แม้ว่าหลายท่านที่เข้ามาอ่านเว็บนี้จะรู้จักอี้จิงมากขึ้นแล้ว แต่กระนั้นก็ตามก็ยังคาดว่ามีหลายท่านที่ยังมึนงงสงสัย รวมทั้งหลายท่านที่ถามเข้ามา ดังนั้นผมจึงคิดว่าจะเขียนต่อเนื่องในส่วนของการแนะนำและความเป็นมาเพิ่มเติมอีกครั้งครับ เพื่อเป็นบทความที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์วิชานี้สำหรับชาวไทยที่ไม่ได้อ่านภาษาจีน ซึ่งความสับสนต่างๆนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากความสับสนของผู้เขียนหนังสือต่างๆที่แปลจากภาษาอังกฤษนั่นแหละ ตัวอย่างเช่น
ที่สับสนบ่อย คือเรื่องชื่อนี่แหละว่า ตกลงแล้ววิชานี้เรียกว่าอะไรกันแน่…อี้จิง หรือโจวอี้ หรืออี้เสวี่ย?
ถัดมาคือ ความสับสนปะปนกับวิชาอื่นๆ…เช่น อี้จิงคือฮวงจุ้ย? คือวิธีดูดวง?
และอีกหลายเหตุผล…
เอาล่ะครับ อย่างแรกผมต้องเรียนก่อนว่า “วิชา” นี้คือวิชาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ผมขอแปลเป็นไทยว่า “ศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลง” ละกันนะครับ ภาษาจีนเรียกว่า “อี้เสวี่ย” ซึ่ง “อี้” หมายถึงเปลี่ยนแปลงนั่นแหละครับ
แต่ปัญหาคือ ขอบเขตของศาสตร์วิชานี้มันครอบคลุมถึงขนาดไหน แล้ว “อี้จิง” ที่เรียกๆกันน่ะคืออะไร? แล้วพวกวิชาที่ว่าด้วยกว้า หรือรูปตรีลักษณ์ หรือฉักกะลักษณ์ต่างๆนั้นคืออะไร แล้วเกี่ยวอะไรกับพวกฮวงจุ้ย? ปัญหามันจะเริ่มตรงนี้แหละ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์กันเลยครับ ไปถึงยุคกษัตริย์ฝูซีครองโลกหล้าอยู่(ชาวจีนเชื่อว่าประเทศจีนคือศูนย์กลางโลกครับ) เป็นสมัยที่ยังไม่มีตัวหนังสือ ตำนานเกี่ยวกับฝูซีมีมากมาย บ้างก็ว่าเป็นเทพที่มีตัวเป็นงูและเป็นทั้งพี่น้องและสามีภรรยากับเทพมารดรหนี่วาผู้สร้างมนุษย์กันเลยทีเดียว ก็เลยมีการวาดรูปหนี่วากับฝูซีที่มีร่างเป็นงูด้วย
ฝูซีกับหนวี่วา |
ฝูซีนั้นอยู่ปกครองโลกมนุษย์ และได้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในโลกหล้าจนเข้าถึงความลับฟ้าดิน แต่เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษร ฝูซีจึงทำการบันทึกไว้ในรูปของสัญลักษณ์ ซึ่งหนึ่งนั้นคือสัญลักษณ์ที่ชาวจีนเรียกว่า “ปากว้า” ครับ แปลแบบหักดิบเลยคือ “กว้าทั้งแปด”
“กว้า” คืออะไร กว้าคือไอ้รูปแบบขีดๆนั่นแหละครับ ประกอบขึ้นมาจากเส้นสองแบบ คือเส้นเต็มแทนหยาง เส้นขาดแทนหยิน แล้วมาเรียงเข้าเป็นรูปแบบที่มี 3 เส้นครับ แบบนี้เรียกว่ากว้า
แต่…รูปแบบที่เป็นการฟอร์มตัวต่อจากรูปแบบ 3 เส้นนี้ เราก็เรียกว่ากว้าเช่นกัน ซึ่งปกติก็คือรูปแบบซึ่งเกิดจากกว้า 3 เส้น สองกว้ามาเรียงกันเป็นกว้าที่มี 6 เส้น ชาวจีนก็ยังเรียกว่ากว้าอยู่
ดังนั้นอย่างงว่า มันมีกี่เส้นถึงจะเรียกว่ากว้านะครับ คือสรุปเลยว่าจะ 3 เส้น หรือ 6 เส้น มันก็กว้าคือกัน
แต่เรียกแบบไทยๆให้เข้าใจง่ายๆว่า กว้าที่เป็น 3 เส้น เรียกว่า “ตรีลักษณ์” กว้าที่มี 6 เส้น เรียกว่า “ฉักกะลักษณ์”
นอกจากนี้นะครับ เนื่องจากการเรียงของ 3 เส้นนั้น จะทำให้เกิดกว้าหรือตรีลักษณ์ที่ต่างกันขึ้นมา 8 ชุด ชาวจีนก็เรียกว่า กว้าทั้งแปดหรือ “ปากว้า” (ปาแปลว่าแปด) แบบนี้ไม่ใช่ว่ามี 8 เส้นนะครับ อย่าสับสนนะครับ แต่หมายถึงกลุ่มของตรีลักษณ์ทั้ง 8 กลุ่มน่ะครับ
กว้าทั้งแปดนี่ จะเรียกแบบไทยๆอีกเช่นกันว่า “อัฏฐลักษณ์” ครับ
จากนั้นฝูซีก็ทำการกำหนดรูปแบบการจัดเรียงกว้าทั้ง 8 นี้ขึ้นมาเป็นแผนภูมิครับ ชาวจีนเรียกว่า “ปากว้าถู” ซึ่งแผนภูมิแบบที่ฝูซีกำหนดขึ้นมานั้นเป็นแผนภูมิแรกสุด ก็เลยเรียกว่า “เซียนเทียนปากว้าถู” หรือ “แผนภูมิอัฐลักษณ์แบบก่อนสวรรค์” นั่นเองครับ
นอกจากนั้น มีอยู่วันหนึ่งฝูซีได้พบเห็นกิเลนตัวหนึ่งขึ้นมาจากแม่น้ำหวง(หวงเหอ) ฝูซีได้มองเห็นลวดลายจากตัวของกิเลน ฝูซีก็ร้องขึ้นมาว่า “บร๊ะเจ้าจอร์จ…นี่มันคือสิ่งที่จะนำพามนุษยชาติพบกับความลับสวรรค์ และนำพามนุษย์สู่ความรุ่งเรืองชัดๆ” ฝูซีก็เลยทำการจดบันทึกลวดลายนั้นเก็บไว้ ต่อมาแผนภาพนี้ถูกเรียกว่า “เหอถู” หรือ “แผนภาพแม่น้ำ(เหอ)” และกลายเป็นต้นตอของหลายๆวิชาควบคู่กับแผมภูมิอัฏฐลักษณ์ในกาลต่อมานั่นแหละ ครับ
แผนภาพเหอถู |
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับแผนภาพแม่น้ำ(เหอ) ไว้จะลงรายละเอียดภายหลังครับ(ที่ผมวงเล็บว่า “เหอ” ไว้ เพราะเหอก็แปลว่าแม่น้ำนั่นแหละครับ)
เอาล่ะครับ ตอนนี้เราก็ถือว่าศาสตร์นี้เกิดขึ้นมาแล้วนะครับ แต่ในยุคนั้นมันมีแต่รูปสัญลักษณ์ครับ ไม่มีตำรงตำราอะไรหรอก ดังนั้นก็เลยยังไม่ได้มีชื่อเรียกเท่ห์ๆว่าคัมภีร์นั่นนี่อะไร ดังนั้นวิชานี้จึงถูกเรียกง่ายๆว่า วิชาปากว้า หรือ “วิชาว่าด้วยอัฏฐลักษณ์” นั่นแหละครับ
ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่เรียกว่าคัมภีร์การเปลี่ยนแปลง, อี้จิง หรืออะไรทั้งสิ้นนะครับ เรียกว่าวิชาปากว้าเฉยๆ เพราะเป็นวิชาว่าด้วยกว้าทั้งแปดนั่นเอง
ก่อนจะไปที่ราชวงค์โจวเหมือนเคย ไหนๆก็รีเมคเนื้อหาแล้ว ก็ขอพล่ามเพิ่มเติมอีกนิดว่าหลังจากยุคฝูซีแล้วก็ได้เกิดตำราและแผนภูมิภาพอัฐลักษณ์ขึ้นมาอีกสองชุดว่ากันว่าเกิดขึ้นในยุค ของหวงตี้และเสินหนง(เทพกสิกร) นั่นคือ “กุยฉาง” และ “เหลียนซาน” ซึ่งตำราเหล่านี้ถูกใช้ในสมัยราชวงค์เซี่ยและราชวงค์ซาง(ราชวงค์ยุคดึกดำบรรพ์ครับ) อ้อ ไอ้รูปกระดองเต่าสลักอักษรโบราณที่ใช้ในการทำนาย ก็อยู่สมัยราชวงค์ซางนี่แหละครับ
กระดองเต่าสลักอักษร |
แต่ถึงแม้ว่าตำนานจะว่างั้นแต่อย่าเชื่อมากครับ ผมว่าตำราทั้งสองเนี่ยเกิดในราชวงค์เซี่ยกับซางนั่นแหละ ปกติคนจีนชอบอ้างคนสมัยโบราณเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาอยู่แล้ว….
สรุปง่ายๆเลยว่า คัมภีร์ทั้งสองนี้ไม่ได้สืบทอดหรือหลงเหลืออยู่แล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุผลไหน หรือถูกใครเผาก็ตาม ขนาดตัวคัมภีร์ยังหาย นับประสาอะไรกับความไม่แน่นอนของตำนาน…
มาถึงปลายราชวงค์ซาง ดังที่เคยเล่าไว้ในครั้งก่อนๆ เจ้านครประจิม “จีซาง” ได้คิดค้นตำราจากการศึกษาหลักวิชาปากว้า และตำราเก่าอย่างเหลียนซานและกุยฉาง ทำการเขียนตำราขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรียกว่า “โจวอี้”…
ดังนั้นคำว่า “อี้” หรือเปลี่ยนแปลงมันก็เพิ่งมีเขามาใช้กันตอนนี้นี่แหละ คือมาจากคำว่าอี้ในชื่อคัมภีร์โจวอี้นั่นเอง ดังนั้นอย่าไปตู่ว่าฝูซีเขียนอี้จิงนะ…อายเค้า
แล้วตอนนี้เนี่ย ก็ไม่ได้เรียกตำรานี้ว่าอี้จิงอะไรอย่างที่หลายคนเรียกๆกันหรอกนะครับ ยังๆๆๆ
ยังเรียกว่าโจวอี้อยู่…
ฝูซีในรูปมนุษย์(ซ้าย)และโจวเหวินหวัง(ขวา) |
ในช่วงนี้ ว่ากันว่ากษัตริย์โจวเหวินหวัง(จริงๆได้รับอวยยศกษัตริย์หลังสวรรคตไปแล้วครับ)ยังได้คิดกำหนดอัฏฐลักษณ์ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “โฮ่วเทียนปากว้าถู” หรือ “แผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบหลังสวรรค์” ที่เรียกงี้คงเพราะสร้างหลังจากแผนภูมิแรกของฝูซีอะไรงั้นมั๊งครับ
ว่าตามหลักแล้ว แผนภูมิอัฏฐลักษณ์ก่อนสวรรค์นั้นเป็นแบบหลักการและอธิบายหลักการตามแบบอุดมคติ แต่แผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบหลังสวรรค์นั้นเป็นแบบอธิบายการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ พูดง่ายๆคือเป็นแบบใช้งาน ว่างั้นเถอะ!!
แผนภูมิอัฏฐลักษณ์ก่อนสวรรค์(ซ้าย) และหลังสวรรค์(ขวา) |
ในยุคสมัยนี้…เอ่อ…บ้างก็ว่าสมัยต้าอวี่คือเป็นสมัยก่อนนี้แหละ ได้มีเต่าขึ้นมาจากแม่น้ำลั่ว ลายบนหลังเต่านั้นก็ไปสะกิดใจผู้พบเห็นว่า “บร๊ะเจ้า…นี่มัน…” อีกรอบ ก็เลยจดบันทึกไว้ เป็นแผนภาพแม่น้ำลั่ว หรือ “ลั่วซู” นั่นเอง
โจวเหวินหวังได้ทำการสร้างแผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบหลังสวรรค์ให้สัมพันธ์กับแผนภาพแม่น้ำลั่วนี้ไว้ด้วยอย่างพิศดาร จนกลายเป็นสุดยอดศาสตร์วิชาอีกหลายอย่าง สำหรับรายละเอียดขอลงภายหลังอีกนั่นแหละ(ก็บทความนี้เน้นไปที่ความเป็นมานี่เนอะ)
***เชื่อผมเถอะว่าแผนภาพแม่น้ำทั้งสอง ทั้งกิเลนทั้งเต่า มันคิดกันขึ้นมาหลังสมัยโจวเหวินหวังนี่แหละ ไม่ได้เกิดมาก่อนนั้นหรอก ฮะๆ
แผนภาพลั่วซู |
หลังจากสถาปนาราชวงค์โจวขึ้นมาแล้ว ก็เกิดนั่นเกิดนี่ไปตามเวลา จนราชวงค์นี้ก็อยู่มาได้แปดร้อยกว่าปีก็ถึงคราวแตกสลายกลายเป็นยุคที่ถูกล่าวถึงในบันทึกคัมภีร์ชุนชิว เลยเรียกยุคสมัยนี้ว่า “ยุคชุนชิว”
ยุคชุนชิวเป็นยุคแห่งความแตกสลาย ราชสำนักไร้อำนาจ เจ้าเมืองต่างๆจึงได้สร้างอำนาจให้ตัวเอง รวมทั้งก่อสงครามกับหัวเมืองอื่นๆมิหยุดหย่อน แต่มีหยินย่อมมีหยาง สวรรค์ก็ยังมีตาเพราะว่าในยุคแห่งการแตกสลายนี้กับเป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของเหล่านักปรัชญา ทำให้กำเนิดนักปราชญ์ขึ้นมามากมาย เกิดฝ่ายสำนักขึ้นมาเยอะแยะ รวมทั้งนักการทหารระดับสุดยอดก็อยู่สมัยนี้ เลยเรียกว่าเป็น “ยุคปราชญ์ร้อยสำนัก”
แม้ว่าตำราโจวอี้และหลักวิชาอัฐลักษณ์นั้น จะเป็นสุดยอดวิชาที่แฝงหลักอภิปรัชญาขั้นสูงที่ปราชญ์รุ่นก่อนได้พยายามถ่ายทอดไว้ แต่เนื่องจากมันสูงเกินไปทำให้อยู่ห่างไกลจากชีวิต และแม้ว่าปราชญ์ยุคก่อนจะเคยใช้ความรู้เหล่านี้สร้างสุดยอดวิทยาการหลายอย่างขึ้นมา(เช่น เรือ, แก้ไขน้ำท่วม) แต่คนทั่วไปก็ยังใช้หลักวิชาเหล่านี้แค่เพื่อที่จะหยั่งรู้ชีวิต พูดง่ายๆคือเอาไว้เป็นตำราหมอดูนั่นแหละ…(จริงๆแล้ว คงต้องบอกว่าในทุกวัฒนธรรมโบราณก็เป็นเช่นเดียวกัน หากการคำนวณทิศทางอิเล็คตรอนในปัจจุบันคือศาสตร์สมัยใหม่ การคำนวณความน่าจะเป็นของชีวิตก็คือศาสตร์ที่เป็นวิธีคิดแบบโบราณ)
ดังนั้นถึงแม้ว่าในยุคนี้ แนวคิดเรื่องหยิน-หยาง อัฏฐลักษณ์ จะเป็นความเชื่ออันเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสังคมอยู่ และดูจะมีความสำคัญต่อความเชื่อในเชิงอภิปรัชญาอยู่ ดังจะเห็นได้จากนักปราชญ์หลายท่านก็อ้างถึง เช่นท่านเหลาจื๊อก็มีพูดถึงหยินหยาง แต่มันก็ยังเหมือนแนวคิดและความเชื่อที่เป็นเพียงเมฆหมอกปกคลุมตัวผู้คนอยู่ ดี คืออยู่สูงและมองเห็นได้ แต่จับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้ การได้เป็นตำราที่หยั่งรู้ชีวิตผู้คน…ดูแล้วจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด จนมาถึงยุคชุนชิวนี่แหละที่มีนักปราชญ์ผู้เป็นเอกบุรุษในยุคที่ตัวเองตายไปแล้วเกิดขึ้นมา…แต๊นน แต๊นนนนน
เค้าคือ “ขงจื๊อ” อ่ะแหละ
ขงจื๊อ |
ขงจื๊อชะตาอาภัพ ชีวิตไม่ค่อยประสบความสำเร็จอะไร โดยเฉพาะในแง่การเมือง มีความสามารถแต่ว่าเกิดผิดยุคสมัยน่ะแหละ แต่ปลายชีวิตได้ผันตัวเป็นอาจารย์สอนผู้คน รวมทั้งแต่งและชำระตำราโบราณต่างๆไว้ให้คนรุ่นหลัง
หนึ่งนั้นก็คือตำราวิพากษณ์โจวอี้ทั้งสิบเล่ม แต๊นนนนนนน
ตำรานี้เรียกว่า “อี้จ้วน” เป็นตำราวิพากษณ์ตำราโจวอี้นั่นแหละ รวมทั้งใส่หลักปรัชญาต่างๆเข้าไป ตามประสานักปราชญ์ที่เน้นจรรยา…
เหตุนั้น…ไม่ใช่ว่าเพราะขงจื๊ออยู่ๆเกิดศรัทธาการทำนายหรือชอบดูดวงแบบที่ พวกซินแสทั้งหลายชอบเอามาอ้างหรอกนะฮวัฟฟฟฟ แต่เป็นเพราะขงจื๊อชอบศึกษาจารีตและหลักวิชาต่างๆของราชวงค์โจว และหลังจากศึกษาโจวอี้แล้ว ขงจื๊อก็พบว่าในโจวอี้นั้นได้แฝงหลักปรัญญาที่สามารถเป็นแนวทางสั่งสอนผู้คน ให้ใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้อง ทั้งเข้าใจถึงเหตุผลแห่งชีวิตและการเปลี่ยนแปลงทั้งมวล ก็เลยทำการเขียนวิพากษณ์ตำราขึ้นมาโดยเพิ่มบทอธิบาย และใส่คำแนะนำในแนวทางดำรงชีวิตตามหลักจรรยาเข้าไป
ตอนนั้นขงจื๊อยังไม่ดังครับ ไปไหนใครก็ไม่แล ใครๆก็ไม่รัก ตำราพวกนี้ก็เลยยังไม่ได้รับการยอมรับอะไรมากมาย
โจวอี้เองถึงจะถูกใช้อยู่ตลอด แต่ก็คงไม่ได้เด่นล้ำอะไรมากมาย เอาง่ายๆว่าสมัยจิ๋นซีเผาตำราโบราณยังมองข้ามไม่เผาโจวอี้เลย…เหตุเพราะมองว่าเป็นแค่ตำราหมอดู!!!
จนหลังขงจื๊อตายไป ผ่านหลังยุคจิ๋นซีและยุคชิงชัยของฉู่ป้าหวัง(ฌ้อปาอ๋อง)กับหลิวปัง จนถึงราชวงค์ฮั่นรัชสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้แล้วนั่นแหละหลักปรัชญาของขงจื๊อ จึงถูกยกขึ้นมาเป็นตัวแทนประเพณีและการปกครองเพียงหนึ่งเดียว…
ตำราของขงจื๊อเลยดังขึ้นมาซะงั้น…!!
อี้จ้วนก็ดังด้วยดิครับ เป็นตำราหลักของฝ่ายลัทธิขงจื้อที่ต้องศึกษาด้วย โจวอี้เลยพลอยฟ้าพลอยฝนเป็นที่สนใจของผู้คนขึ้นมามากกว่าเก่าอย่างที่เคยเป็น ต่อมาพวกตำราของขงจื๊อได้รับการยอมรับ และถูกยกแท่นขึ้นมาอยู่ในระดับของ “จิง” หรือคัมภีร์อันเป็นวัฒนธรรมของชนชาติ
ตำราโจวอี้ก็เลยถูกยกขึ้นแท่นขึ้นมากลายเป็น “อี้จิง” หรือก็คือ “คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง” ขึ้นมา แต๊นนนนนนนนนน!!!
เอาล่ะครับ สรุปว่า “อี้จิง” ก็มีขึ้นมาตอนนี้นี่แหละครับ หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นบทบรรยายความหมายของฉักลักษณ์และลายเส้นในฉักลักษณ์ที่แต่งขึ้นโดยโจวเหวินหวัง และถูกรีเมคโดยขงจื๊อ… ไม่เกี่ยวอะไรกับฮวงจุ้ยเล๊ย…
ไหนๆเนื่องจากตัวคัมภีร์ที่บันทึกเนื้อความเกี่ยวกับศาสตร์นี้ก็มีมากกว่าแค่โจวอี้ คือมีอีกสองเล่มอยู่ก่อนแล้ว จึงทำการยกย่องคัมภีร์ 3 เล่มขึ้นมาพร้อมกันเลย คือ “เหลียนซาน” “กุยฉาง” และ “โจวอี้” ทั้งสามเล่มนี้เป็นมหาคัมภีร์อี้จิง แต่เมื่อพูดถึงอี้จิงโดยทั่วไปแล้วก็ยังคงหมายถึงโจวอี้อยู่ดี
อี้จิงเป็นวิวัฒนาการขั้นสำคัญขั้นหนึ่งของการศึกษาวิชาว่าด้วยอัฏฐลักษณ์ครับ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้สัญลักษณ์ที่ฝูซีเคยเขียนไว้มีความหมายขึ้นมาศึกษาได้ และเป็นพัฒนาการที่ทำให้วิชานี้ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสุดยอดศาสตร์วิชาของจีนนั่นแหละครับ แต่ว่าในแง่ของการศึกษาศาสตร์อัฏฐลักษณ์ของฝูซีแล้วมันยังไม่จบครับ เพราะว่าอัฏฐลักษณ์นี้ก็เป็นต้นตอของวิชาอื่นๆของจีนอีกมากมาย ทั้งในภายหลังและทั้งตั้งแต่ยุคโบราณกาลมาก่อนจะมีคัมภีร์อี้จิงซะอีก
สำหรับศาสตร์วิชาอื่นๆนั้นจะขอกล่าวภายหลัง แต่สำหรับในแง่ของวิชาว่าด้วยอัฏฐลักษณ์รวมทั้งคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง นี้ได้แบ่งออกเป็นสี่สาขา ได้แก่ ยี่(จรรยา) หลี่(คล้ายๆวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยหลักการ) เซี่ยง(รูปลักษณ์) ซู่(ตัวเลข คณิตศาสตร์) แต่แบ่งง่ายๆเป็นสองสาขาใหญ่ คือ “ยี่หลี่” ว่าด้วยการอธิบายหลักการ ปรัชญารวมทั้งแนวทางจรรยาต่างๆ ใช้คัมภีร์โจวอี้เป็นคัมภีร์หลัก โดยมีฝ่ายหยูหรือลัทธิขงจื๊อเป็นตัวแทนหลัก อีกสายคือ “เซี่ยงซู่” ว่าด้วยการศึกษาฉักลักษณ์และการตีความทางตัวเลข สาขานี้จะครอบคลุมไปถึงการทำนายหรือพยากรณ์ต่างๆครับ
ถึงตอนนี้…ยาวมากแล้ว ขอตัดบทเลยละกันนะครับ…
สรุปว่า นับจากมีการตั้งอัฏฐลักษณ์ขึ้นมา ก็มีการศึกษาวิชานี้กันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคัมภีร์อี้จิงหรือโจวอี้เกิดขึ้นวิชานี้ก็ได้รับการยอมรับในเชิงปรัชญาด้วย ส่วนการศึกษาอัฏฐลักษณ์หรือกว้าทั้งแปดนั้นยังมีการเติบโตออกไปหลายแขนง ทั้งการแพทย์ วิชาบำเพ็ญพรต ศิลปะการต่อสู้ ดูดวง ทำนาย-พยากรณ์ วิชาการทหาร ค่ายคูประตูกล ฮวงจุ้ย และอื่นๆๆๆๆๆอีกมากมาย…
และปัจจุบันนี้การศึกษาวิชาอันเกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับอัฏฐลักษณ์และคัมภีร์อี้จิง เราเรียกรวมๆว่า “อี้เสวี่ย” หรือศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคำว่าอี้ที่ใช้นี้ก็มาจากคัมภีร์โจวอี้นั่นเอง ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดว่าตำราเล่มนี้คือฮวงจุ้ยหรือคือหลักวิชานู้นนี้แบบที่ซินแสชอบอ้างกัน จริงๆแล้วคำว่า “อี้” เพิ่งถูกใช้กันหลังจากลัทธิขงจื๊อได้รับการยอมรับแล้ว และทำให้คัมภีร์อี้จิงนี้ดูจะเป็นตัวแทนของศาสตร์วิชาแขนงนี้ไป
อีกอย่างหนึ่งนั้นตำราบ้านเรามักจะแปลจากภาษาอังกฤษ ทำให้แปลไปตามฝรั่งว่า ไอชิงมั่ง อี้ชิงมั่ง อิกิงมั่ง แล้วเหมารวมว่าอะไรๆที่ใช้อัฏฐลักษณ์เป็นอี้จิงไปหมดนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด(อี้จิงต้องหมายถึงโจวอี้ครับ หรือไม่ก็หมายถึงกุยฉางกับเหลียนซานก็ยังดี) อีกทั้งชาวจีนบ้านเรานั้นส่วนใหญ่เป็นชาวแต้จิ๋วจึงเรียกวิชานี้ตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า จิวเอี๊ยะ มั่ง เอี๊ยะกิง มั่ง ต่างๆ ส่วนกว้าก็เรียก กัว มั่ง ข่วย มั่ง ก็ทำให้สับสนได้ง่ายเช่นกัน ก็เลยตั้งใจเขียนเนื้อหานี้เพื่อคลายความสับสน ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้นจากการอ่านเว็บของเรานะครับ เพราะผมพยายามใช้คำจีนกลางพร้อมแปลไทยด้วยเสมอครับ
ยาว…ไม่ไหวละครับ วันไหนคิดอะไรออกค่อยเขียนต่อละกันครับ
อ่อ ถ้าใครอ่านแล้วงง แนะนำว่ากลับไปอ่านบทความเก่าก่อนนะครับ หน้านี้ครับ