ศาสตร์แห่งอี้จิงที่รู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแต่อย่างใด หากแต่เกิดขึ้นจากปราชญ์มากมายในประวัติศาสตร์จีนที่ได้ศึกษาและได้ขยายขอบเขตของการศึกษาศาสตร์แขนงนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง มีงานเขียนอธิบายและวิพากษ์มากมายนับไม่ถ้วน ก่อเกิดเป็นศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ แตกแขนงแยกออกไปมากมาย แต่หากให้กล่าวถึงแกนกลางของประวัติความเป็นมาของอี้จิงแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นความเป็นมาของคัมภีร์โจวอี้นั่นเอง
ย้อนกลับไปในยุคบรรพกาลราวหกพันปีก่อน ชาวจีนเชื่อว่าแรกเริ่มนั้นมนุษย์เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นของเทพมารดรนาม หนี่ว์วา (女娲) เมื่อเทพมารดรได้สร้างมนุษย์ขึ้นแล้ว ฝูซี (伏羲) ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายและสามีของพระนางด้วยก็ได้เป็นผู้ปกครองมนุษย์ ชาวจีนเชื่อว่าทั้งสองนั้นมีร่างกายท่อนบนเหมือนมนุษย์แต่มีท่อนล่างเป็นงู ฝูซีเมื่อปกครองมนุษย์อยู่นั้นก็ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์รู้จักการรวมกลุ่มและปกครองกัน หนึ่งในความรู้ที่ฝูซีถ่ายทอดนั้นก็คือความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล แต่เนื่องจากในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการประดิษฐ์อักษรไว้ใช้งาน ฝูซีจึงได้แสดงความรู้นี้ในรูปแบบของสัญลักษณ์ โดยใช้ขีดง่ายๆ แทนสภาวะอันเป็นขั้วตรงข้ามของจักรวาลที่เรียกว่ายินและหยาง และนำเอาขีดเหล่านี้สามขีดมารวมกันกลายเป็นตรีลักษณ์แปดแบบ หรือ “อัฐฏลักษณ์” และฝูซียังได้อธิบายคุณสมบัติของตรีลักษณ์ทั้งแปดนี้ในรูปแบบของการเรียงตัวและจับคู่ตรงข้ามในลักษณะของแผนภูมิภาพเรียกว่า “แผนภูมิอัฐฏลักษณ์ก่อนสวรรค์” ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือศึกษาหลักการของฝูซีมาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากยุคสมัยของฝูซีแล้ว ความรู้นี้ก็ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันเรื่อยมา เมื่อเริ่มมีการใช้ตัวอักษรในการบันทึกขึ้นมา ก็เริ่มมีการเขียนเนื้อหาของอี้จิงออกมา ในยุคราชวงค์เซี่ย (ราว 2070 ปีถึง 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้มีการบันทึกอี้จิงเล่มแรกเรียกว่า เหลียนซาน (连山) ซึ่งหมายถึง “ภูเขาที่ต่อเนื่องกัน” และเมื่อสืบทอดต่อมาถึงราชวงค์ซาง (ราว 1558 ปีถึง 1046 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ก็ได้มีการปรับปรุงคัมภีร์เหลียนซานให้สอดคล้องกับการใช้งานตามยุคสมัย และตั้งชื่อใหม่ว่า กุยฉาง (归藏) หมายถึง “กลับสู่ความเร้นลับ” ซึ่งในปัจจุบันทั้งเหลียนซานและกุยฉางต่างก็ถูกยกย่องให้เป็นคัมภีร์อี้จิงทั้งคู่ แต่อี้จิงทั้งสองฉบับนี้ได้สูญหายไปตามกาลเวลาจนไม่หลงเหลือสืบทอดในปัจจุบัน
จนกระทั่งในยุคปลายราชวงค์ซาง เมื่อ โจ้วหวัง (纣王) ขึ้นครองราชย์ (1075 ปี ถึง 1046 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้ปกครองประเทศเยี่ยงทรราชย์ ลุ่มหลงในสุราและนารี กดขี่ข่มเหงขุนนางและเจ้าเมืองทั้งหลายอยู่เป็นนิจ เมื่อเกิดแคลงใจในตัวเจ้าเมืองตะวันตกนาม จีซาง (姬昌) ว่าอยากล้มล้างอำนาจของตน ก็ได้จับจีซางไปกักตัวไว้ที่ตำบลโหยวหลี่ ในระหว่างที่จีซางถูกกักตัวไว้นั้น เขาก็ได้ทำการรวบรวมความรู้ในด้านอัฐฏลักษณ์ที่ตนมีและความรู้จากคัมภีร์อี้จิงเดิมคือคัมภีร์กุยฉาง ขยายตรีลักษณ์ทั้งแปดให้กลายเป็นฉักลักษณ์ 64 ฉักลักษณ์ เรียงลำดับฉักลักษณ์ทั้ง 64 ฉักลักษณ์ ให้สอดคล้องกับวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง จากนั้นรวบรวมเอาสถานการณ์ทางการเมืองที่ตนได้ประสบ เรียบเรียงเข้ากับหลักแห่งการเปลี่ยนแปลงของฉักลักษณ์ทั้ง 64 ฉักลักษณ์ และกำหนดตั้งชื่อฉักลักษณ์พร้อมทั้งคำอธิบายไว้ จดบันทึกเป็นคัมภีร์บนม้วนไม้ไผ่สองม้วน เรียกคัมภีร์นี้ว่า โจวอี้ (周易) ซึ่งก็คือคัมภีร์อี้จิงที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง
หลังจากที่เมืองตะวันตกและเจ้าเมืองต่างๆ นำสาวงามและทรัพสมบัติมามอบให้โจ้วหวังแลกกับการปล่อยตัวจีซาง โจ้วหวังก็ได้ปล่อยตัวจีซางให้เป็นอิสระหลังจากกักตัวไว้นานถึง 7 ปี หลังจากนั้นจีซางก็ได้รับ เจียงจื่อหยา (姜子牙) เป็นเสนาธิการ และวางแผนโค่นล้มราชวงค์ซางของโจ้วหวัง น่าเสียดายที่จีซางได้เสียชีวิตไปเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตามเจียงจื่อหยาก็ได้ช่วยเหลือ จีฟา (姬发) บุตรชายของจีชางในการโค่นล้มโจ้วหวังลงได้ในที่สุด และตั้งราชวงค์ใหม่นามว่าราชวงค์โจว (周) สถาปนาตนเองเป็นโอรสสวรรค์พระนามว่า โจวอู่หวัง (周武王) และยกพระบิดาจีซางเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงค์โจวพระนาม โจวเหวินหวัง (周文王)
ภายหลังพระอนุชาของพระเจ้าโจวอู่หวังคือ โจวกง (周公) ผู้มีภูมิความรู้กว้างขวางและเป็นผู้จัดระเบียบสังคมและพิธีกรรมของราชวงค์โจว ได้เขียนส่วนอธิบายลายลักษณ์เข้าไปในคัมภีร์โจวอี้จนครบทุกลายลักษณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน และคัมภีร์นี้ได้สืบทอดในราชวงค์โจวอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคปลายราชวงค์โจวซึ่งเรียกว่ายุคชุนชิวจ้านกว๋อ (770 ปีถึง 221 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ปราชญ์ผู้แห่งลัทธิหยูนาม ขงจื่อ (孔子) ได้สนใจศึกษาคัมภีร์โจวอี้ และเห็นซึ้งถึงความสำคัญของคัมภีร์นี้ จึงได้เขียนบทอธิบายคัมภีร์โจวอี้ขึ้นมาแบ่งเป็นสิบม้วน เรียกว่า อี้จ้วน (易传) ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายโจวอี้ซึ่งปราชญ์จีนทุกยุคทุกสมัยต้องศึกษาเล่าเรียน และกลายเป็นคัมภีร์อี้จิงที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน