อี้จิง หมายถึงคัมภีร์ที่บันทึกศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงตามหลักยินหยาง ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีอายุยาวนาน เมื่อกล่าวถึงอี้จิงจะหมายถึงคัมภีร์หลักสามเล่ม ได้แก่ คัมภีร์เหลียนซานแห่งราชวงค์เซี่ย คัมภีร์กุยฉางแห่งราชวงค์ซาง และคัมภีร์โจวอี้แห่งราชวงค์โจว แต่เหลือเพียงคัมภีร์โจวอี้ที่ยังสืบทอดถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันคำว่าอี้จิงนั้นถูกใช้อย่างกว้างขวาง เมื่อเรากล่าวถึงคำว่าอี้จิง มันจึงรวมหมายถึงการศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์วิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดด้วย
อี้จิง รากฐานแห่งปรัชญาและความรู้ของจีน
- 19/02/2016
- Posted by: Liang
- Category: บทความทั่วไป

อี้จิงคืออะไร?
อี้จิง (易经) หากกล่าวโดยความหมายคำแล้ว หมายถึงคัมภีร์ (จิง – 经) ที่บันทึกเรื่องของหลักแห่งการเปลี่ยนแปลง (อี้ – 易) ซึ่งไม่ใช่คัมภีร์เล่มเดียว แต่หมายถึงคัมภีร์ทั้งหมดสามฉบับ แต่หลงเหลือถึงปัจจุบันมีอยู่ฉบับเดียว เรียกว่า “คัมภีร์โจวอี้” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในสมัยปลายราชวงค์ซาง และถูกใช้ในสมัยของราชวงค์โจว
คัมภีร์โจวอี้บันทึกอะไรไว้? ที่จริงมันเป็นคัมภีร์ซึ่งบันทึกไว้ในม้วนคัมภีร์สองม้วน ซึ่งบันทึกโศลกโบราณที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นไว้ ซึ่งแม้แต่นักวิชาการในปัจจุบันที่ศึกษาด้านนี้ก็ยังไม่สามารถตีความและเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ความจริงหนึ่งก็คือ คัมภีร์โจวอี้นั้นได้ถูกแต่งขึ้นมาอย่างมีความสัมพันธ์กับหลักความรู้โบราณที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งว่าด้วยยินหยางและการเปลี่ยนแปลงของมัน ซึ่งในความรู้ดั้งเดิมนั้นได้บันทึกไว้ในรูปของสัญลักษณ์แปดแบบ ซึ่งประกอบขึ้นจากสัญลักษณ์ขีดของยินและหยาง (ในปัจจุบัน หยางมีสัญลักษณ์เป็นเส้นขีดเต็ม และยินมีสัญลักษณ์เป็นเส้นขีดขาด) ซึ่งเรียกว่า ลายลักษณ์ หรือ เหยา (爻) ซึ่งสัญลักษณ์แต่ละแบบนั้นคือชุดของลายลักษณ์สามเส้นเรียกว่า ตรีลักษณ์ หรือ กว้า (卦) และชุดของตรีลักษณ์ทั้งแปดแบบนั้นถูกเรียกว่า อัฐฏลักษณ์ หรือ ปากว้า (八卦)
ตรีลักษณ์ทั้งแปดนั้นคือสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ในธรรมชาติแปดอย่าง ได้แก่ เฉียน (乾) แทนท้องฟ้า คุน (坤) แทนผืนดิน หลี (离) แทนไฟ ขั่น (坎) แทนน้ำ ตุ้ย (兑) แทนทะเลสาบ เกิ้น (艮) แทนภูเขา ซวิ่น (巽) แทนลม และ เจิ้น (震) แทนฟ้าร้อง และมีรูปแบบการเรียงตัวเป็นรูปที่เรียกว่า “แผนภูมิ” อยู่สองแบบ ได้แก่ แผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบก่อนสวรรค์ (先天八卦图) และ แผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบหลังสวรรค์ (后天八卦图) ซึ่งอัฐฏลักษณ์ทั้งแปดและการจัดเรียงตัวของมันนั้นได้กลายเป็นฐานความรู้ในการเข้าใจธรรมชาติของชาวจีน และกลายเป็นองค์ความรู้พื้นฐานของสรรพวิชาของจีนในเวลาต่อมา
คัมภีร์โจวอี้คือคัมภีร์ที่อธิบายแนวคิดซึ่งต่อยอดขึ้นมาจากตรีลักษณ์ทั้งแปดอีกที โดยได้นำเสนอ “กว้า” ที่มีหกเส้นขึ้นมาแทน โดยการนำตรีลักษณ์สองตรีลักษณ์มาวางซ้อนทับกัน ซึ่งได้กว้าที่เรียกว่า ฉักลักษณ์ ขึ้นมาซึ่งมีทั้งหมด 64 ฉักลักษณ์ และได้อธิบายความหมายของฉักลักษณ์และลายลักษณ์ทั้งหมดด้วยการนำเอาสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นมาเชื่อมโยงอย่างไว้อย่างแนบเนียน ภายหลังคัมภีร์เล่มนี้ยังได้รับการศึกษาและเขียนบทอธิบายเพิ่มเติมโดยปราชญ์อย่าง ขงจื่อ (孔子) จนทำให้คัมภีร์นี้กลายเป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาความเร้นลับเบื้องหลังธรรมชาติและสังคมของบัณฑิตและปราชญ์จีนมาทุกยุคสมัย
มีคำกล่าวของจีนว่า “ไม่ศึกษาอี้จิง ไม่อาจเป็นใหญ่ในแขนงใดได้” เนื่องจากอี้จิงนั้นคือรากฐานปรัชญาและความรู้ทั้งมวลของจีน ไม่ว่าจะศึกษาศาสตร์แขนงใด ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์จีน วิทยายุทธ์ ชี่กง เต๋า ฮวงจุ้ย วิชาทำนายเสี่ยงทาย การเมือง การทหาร การปกครอง ฯลฯ ล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้จากอี้จิงทั้งสิ้น ว่ากันว่าแม้แต่ปราชญ์ขงจื้อก็ยังจับต้องคัมภีร์โจวอี้บ่อยมากจนเชือกที่ร้อยคัมภีร์ของเขานั้นขาดถึง 3 ครั้ง 3 ครา และคัมภีร์อี้จิงนี้ยังได้ถูกยกให้เป็นหนึ่งใน ห้าคัมภีร์ (อู๋จิง – 五经) ของจีน ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ขั้นสูงซึ่งบัณฑิตและปราชญ์ต้องศึกษา