รวมหนังสือที่เกี่ยวกับ “อี้จิง” ที่มีการแปลเป็นไทย
- 18/10/2016
- Posted by: Liang
- Category: บทความทั่วไป

เนื่องจากมีหลายท่านเคยถามผมว่าจะหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับอี้จิงภาษาไทยได้จากไหนบ้าง ซึ่งผมก็ตอบไปตามสมควร แต่ปัญหาคือหนังสือส่วนใหญ่น่าจะหาซื้อไม่ได้แล้ว แต่ยังไงก็ตามผมก็ได้ทำการรวบรวมไว้จากที่ตัวเองได้พบเห็นและซื้อเก็บไว้เท่านั้นนะครับ อาจจะไม่ครบถ้วนแต่ก็น่าจะมากพอ ลองมาดูกันว่า “อี้จิง” และตำราที่เกี่ยวข้องในภาษาไทยนั้นมีอยู่ซักกี่เล่ม และถือว่าเป็นการระลึกอดีตร่วมกันครับ
![]() |
1. อี้จิงกับการตัดสินใจทางธุรกิจ |
เอาล่ะครับ เล่มแรกเลยนะครับคือ “อี้จิงกับการตัดสินใจทางธุรกิจ” แปลโดยจตุรัส เล่มนี้เป็นเล่มแรกๆที่ซื้อแบบไม่มีตัวเลือก เพราะสมัยนั้นผมอยู่บ้านนอกครับ จังหวัดสกลนครนู่น นานทีปีหนค่อยได้เข้าตัว อ.เมืองอุดรธานีค่อยมีโอกาสได้ซื้อหนังสือครับ เพราะแถวบ้านผมมันไม่มีร้านหนังสือนั่นเอง ถือว่าโชคไม่ดีเหมือนคนกรุงเทพ แต่ว่าผมเองก็สนใจศึกษาอี้จิงมาตั้งแต่ครั้งยังวัยรุ่น เล่มนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก(และผมว่ามันพิมพ์ครั้งเดียวนั่นแหละ) ปี 2533 (เอิ๊กกก) ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะซื้อตอนปี 2535 จริงๆแล้วผมต้องการหาหนังสือที่มีเนื้อหาโจวอี้มากกว่าครับเพราะอยากอ่าน เชิงปรัชญากับเนื้อหาจริงๆ ไม่ได้ต้องการในเชิงคำทำนายแบบนี้ แต่ตอนนั้นมันไม่มีหนังสือครับ ก็ต้องจำทนไป
เล่มนี้ไม่มีการอธิบายว่าอี้จิงคืออะไร อัฏฐลักษณ์คืออะไรครับ เป็นคำทำนายล้วนๆ วิธีก็โยนเหรียญแล้วเปิดดูฉักกะลักษณ์กับลายเส้นที่ตรงกันแล้วอ่านคำทำนายครับ แต่อย่างไรก็ตามหลายปีต่อมาผมกลับคิดว่าเล่มนี้ได้ให้ความหมายในเชิงการตีความอีกรูปแบบหนึ่งแก่ผมได้ดีมาก ด้วยเนื้อหาที่มากและหนาถึง 530 หน้า ทำให้เล่มนี้ให้คำทำนายที่ละเอียดมากครับ และช่วยแนวคิดผมในแง่ธุรกิจได้ดีมาก เรียกว่าใครทำธุรกิจต้องอ่านเล่มนี้เลยครับ ต่อให้ไม่ทำนายแต่การเปิดอ่านเล่มนี้จะช่วยสร้างแนวคิดที่ดีมากต่อธุรกิจและการร่วมงานกับผู้อื่นครับ ถือเป็นหนังสือปรัชญาธุรกิจที่ดีมาก ใครหาซื้อได้ก็หาครับ แต่คงไม่มีใครเอามาพิมพ์ซ้ำแล้วล่ะมั๊งครับ
อ้อ เล่มนี้ถ้าจำไม่ผิดผมซื้อที่ดวงกมลอุดรครับ ปัจจุบันเลิกไปละครับร้านนี้ หรือไม่ก็อาจจะร้านใกล้ๆกันตรงนั้น จำไม่ค่อยได้เพราะสมัยก่อนผมบ้านนอกครับ ไม่รู้จักหรอกว่าร้านหนังสืออะไรชื่ออะไร แต่เห็นหนังสือเยอะๆก็เดินเข้าไปแค่นั้น…
![]() |
2. กลยุทธ์ผู้นำ นำด้วยภูมิปัญญาจากอี้จิง |
เล่มถัดมานะครับ เป็นอีกหนึ่งหนังสือระลึกชาติ “กลยุทธ์ผู้นำ นำด้วยภูมิปัญญาจากอี้จิง” แปลโดย อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ หนังสือชื่อนี้ครับแต่ว่าไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์เกรงว่ามันจะขายไม่ได้หรือไร ก็เลยเอาปกอ่อนมาห่อด้วยชื่อ “สนุกกับอี้จิง” เล่มนี้สนุกสมชื่อครับ เพราะเนื้อหาเป็นรูปการ์ตูน จุดที่ดีที่สุดคือ นี่คือเล่มแรกที่มีการแนะนำว่าอี้จิงคืออะไร ความสำคัญพร้อมประวัติความเป็นมา, โครงสร้าง, ตรรกะ รวมทั้งความหมายฉักกะลักษณ์ทั้ง 64 ครับ โดยไม่มีในส่วนเื้นื้อหาขยายความของขงจื๊อนะครับ เป็นเนื้อหาจากโจวอี้ล้วนๆครับ เนื้อหาที่ใช้ภายในเล่มมาจากอี้จิงฉบับของราชบัญฑิต “จู้ซี” ซึ่งเป็นนักลัทธิหยู(ขงจื๊อ)ใหม่สมัยราชวงค์ซ่ง ซึ่งถือเป็นฉบับที่มีเนื้อหาเชื่อถือได้ครับ (***ขณะที่ตำราเกี่ยวกับอี้จิงเล่มอื่นๆโดยเฉพาะที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในยุค ต้นๆเลยจะเป็นการแปลจาก “อี้จิงฉบับหลวง” ปี ค.ศ.1715 ในราชวงค์ชิงของจักรพรรดิ์คังซี หรือก็คือจัดพิมพ์โดยชาวแมนจูนั่นแหละครับ ซึ่งเป็นฉบับที่แฝงเงื่อนงำเรื่องมิตรและศัตรูต่างๆ เพื่อให้ชาวจีนยอมรับแมนจู ดังนั้นจึงถือเป็นฉบับเล่นเล่ห์ทางการเมืองของชาวแมนจู โดยการบิดเบือนเนื้อหาคัมภีร์โบราณของชาวจีนครับ) เนื้อหาเล่มนี้อ่านง่าย ภาพประกอบสวย เนื้อหาแนะนำก็ไม่เลว ดังนั้นเป็นเล่มที่ดีเล่มนึงครับ เล่มนี้ผมซื้อเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 2537 ครับ โดยสำนักพิมพ์ที่กลายเป็นตำนานสาบสูญ “ดอกหญ้า” นั่นเองครับ และก็ซื้อจากร้านหนังสือ “ดอกหญ้า” นั่นแหละครับ คิดดูว่าสมัยที่ร้านหนังสือดอกหญ้ายังอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองก่อนจะเจ๊งกระโบ๊ะไปมันเป็นอดีตที่นานขนาดไหน เพราะปัจจุบันมันตายไปแล้วมองหาไปทางไหนก็มีแต่ซีเอ็ด ว่าแล้วก็คิดถึงสมัยที่มีโฆษณาร้านหนังสือดอกหญ้าทางทีวี ตอนสิ้นปีสมัครสมาชิกได้ดิกชันนารี่ฟรีด้วย ที่คั่นหนังสือก็สวย บลาๆๆๆ …เอ่อ ผมจะพูดไปทำไมนี่
“เพียงแค่แวะเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ”….หุหุ
![]() |
3. อี้จิง เซียมซีวิทยาศาสตร์ |
เล่มนี้…เอ่อ…”อี้จิง เซียมซีวิทยาศาสตร์” โดย ละเอียด ศิลาน้อย เล่มนี้ผมเห็นตั้งแต่ปี 2534 มั๊ง แต่ไม่ได้ซื้อทันทีครับเพราะไม่ชอบชื่อกับเนื้อหา เนื้อหาก็เป็นคำทำนายครับ แบบให้หยิบไม้ที่แถมมานั่นแหละครับ ได้เลขอะไรก็เอารวมเป็นฉักกะลักษณ์แล้วเปิดคำทำนาย ง่ายมั้ยล่ะครับ เนื้อหาไม่มีอะไรครับ มีแนะนำนิดๆ ที่เหลือก็คำทำนายล้วนๆ โดยไม่มีความหมายลายเส้นด้วยครับ คือมันมีแค่ 64 คำทำนายตาม 64 ฉักกะลักษณ์ครับ คือไม่ละเอียดเลยยยแต่จะเป็นแบบที่ตีความไปตามเรื่องที่ถามบ่อยครับ เช่น การเงิน ความรัก ฯลฯ เล่มนี้กว่าผมจะัซื้อก็ปี 2538 ครับ พิมพ์ครั้งที่ 8 แล้ว ซื้อเพราะไม่มีอะไรอื่นให้ซื้อครับ อีกอย่างสมัยนั้นผมมีปัญหาที่คิดไม่ตก พูดง่ายๆคือ “หลงทาง” นั่นแหละครับ ก็ซื้อเล่มนี้มาเผื่อจะช่วยอะไรได้ แต่เนื่องจากเนื้อหาส่วนปรัชญามันไม่มีอะไร สรุปว่าเลยช่วยอะไรไม่ได้ครับ เอิ๊กก แต่อย่างไรก็ตามช่วงนั้นผมก็ใช้ทำนายเรื่องง่ายๆทั่วไปอยู่บ่อยครั้งครับ นับว่าในมุมนี้ก็ไม่เลวเลยครับ
เล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 8 ปี 2538 ส่วนพิมพ์ครั้งแรกนี่ปี 2532 สำนักพิมพ์ “ดอกหญ้า” จากร้านหนังสือที่หายสาบสูญ “ร้านหนังสือดอกหญ้า” ปัจจุบันยังเห็นอยู่ครับ แถวดวงกมลเชียงใหม่ก็ยังเห็น แต่พิมพ์ไม่ดีครับ ออกดำๆ ห่วยมากกก
![]() |
4. อิกิง สังสารคัมภีร์ |
เล่มถัดมาคือเล่มที่ “ดีที่สุด” ที่มีแปลไทยครับ “อิกิง สังสารคัมภีร์” โดย ศัลก์ ศาลยาชีวิน แต่ขอบ่นหน่อยเถอะครับ ผมไม่รู้ว่าบรรพบุรุษใครมันไปเข้าฝันคนเขียนหรือสำนักพิมพ์ให้ใช้ชื่อนี้ เพราะมันทำให้คนงงและสับสนมาก แถมชื่อก็นะ…ดึงดูดให้คนซื้อมากกกกกกกกก ไม่เจ๊งให้มันรู้ไปครับ คือว่าตามตรงแค่หน้าปกมันก็ไม่น่าเปิดดูแล้วครับ คนไม่รู้จักเค้าก็ไม่สนใจเปิดลองอ่านดู คนรู้จักบางทีก็กลายเป็นไม่รู้จักเพราะงงชื่อนี่แหละ หนังสือเล่มนี้เลยอยู่กับแค่แฟนพันธ์แท้ครับ
เล่มนี้ดีมากครับ เพราะแปลออกมาได้เนื้อความตามภาษาจีนดี ผมคิดว่าน่าจะแปลจากภาษาจีนแหละนะ(ภายหลังผมกลับเริ่มคิดว่าแปลจากภาษาอังกฤษแฮะ เพราะแนวทางตีความสอดคล้องกับฉบับภาษาอังกฤษมากกว่าครับ) เนื้อหาครบทั้งส่วนฉักกะลักษณ์จากโจวอี้ ส่วนขยายความของขงจื๊อ อธิบายลายเส้น แต่ปัญหาคือมันแทบจะไม่มีการเกริ่นที่มาที่ไปเลยครับ คือมีนิดเดียวจริงๆที่ส่วนคำนำ ถ้าไม่ตั้งใจอ่านก็ไม่เจอ คนไม่รู้จักเปิดมาก็จะงงกับเนื้อหาที่เป็นโศลกโบราณจนไม่ชื้อแหงๆแต่ว่า สำหรับคนรู้จักศาสตร์นี้ดีก็ต้องบอกว่าดีแหละครับ ไม่มีคำบรรยายเพราะว่านี่ดีสุดในภาษาไทยละ ผมได้เล่มนี้ในยุคเร่ร่อนครับ “หลงทาง” นั่นแหละ แต่ผมก็ได้เล่มนี้ในเวลาที่ประจวบเหมาะครับ เพราะเป็นช่วงที่ผมถูกอาจารย์มวยจีนฉุดขึ้นจากหล่มเหวทั้งๆที่ก่อนนั้นผมยัง ไปฝึกวิชางัดแงะสะเดาะกุญแจเพื่อเป็นโจรอยู่เลย และการที่อาจารย์มวยผมสอนเรื่องอี้จิงให้ผมด้วยก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมศึกษาวิชานี้จนบัดนี้ครับ
ฉบับนี้พิมพ์ครั้งแรกครับ ปี2540 เล่มที่ผมซื้อครั้งแรกเก่ามากครับเลยไม่เอามาโชว์ เล่มในรูปคือเล่มซื้อใหม่ที่งานหนังสือซัก 6-7 ปีที่แล้วที่ขอนแก่นครับ คือมันขายไม่ออกนั่นแหละครับมันเลยมาขายเลหลังลดราคากันใหญ่เลย ผมเคยซื้อเล่มนี้ไว้รวมๆน่าจะเป็น 10 เล่ม ปัจจุบันเหลือ 2 เล่มคือเล่มแรกสุดกับเล่มซื้อครั้งหลังสุด ที่หายไปเพราะแจกคนซะส่วนมากครับ ขายต่อมั่งก็มี ปัจจุบันคิดว่าน่าจะหาไม่ได้ละครับ
เล่มนี้ผมไม่รู้ว่าพิมพ์มากี่เล่ม แต่คิดว่าไม่กี่พันเล่มครับ แต่เชื่อมั้ยครับว่า หลายสิบเล่มถูกซื้อโดยคนในสำนักผมทั้งนั้นครับ ฮะๆๆ
อ้อ เรื่องนี้ต้องเล่าครับ ผมซื้อเล่มแรก ครั้งแรก ที่ “ร้านหนังสือดอกหญ้า” ครับ ฮ่าๆ
![]() |
5. อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง |
ถัดมาครับคือ “อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยมนตรี ภูมี เป็นเล่มที่ชื่อดีครับ ผมเห็นปุ๊บ…ชื่อโดนมากครับ แต่ก็ยังไม่ซื้อทันทีครับ เพราะเปิดอ่านแล้วหนังสือค่อนข้าง… แต่ผมก็ทนไปเรื่อยๆจนพักใหญ่ค่อยคิดว่า “ซื้อเถอะ ยังไงก็ไม่มีตัวเลือกแล้ว” ก็เลยซื้อมา แล้วตั้งแต่ซื้อมาผมแทบจะไม่ได้แตะครับ จึงยังใหม่ทั้งๆที่ผมซื้อตั้งแต่ปี 2540
ว่าตามตรงครับ เล่มบนๆที่มีแต่เนื้อหาคำทำนาย ผมยังไม่ว่ามากเพราะเค้าก็บ่งชัดว่าเนื้อหาเชิงทำนายนะ แล้วเค้าก็ทำได้ดีในแง่มุมนั้นๆ ถึงมันจะไม่ใช่โจวอี้จริงๆก็ตาม ผมเลยไม่วิจารณ์มาก แต่เล่มนี้…ผมไม่ชอบครับ คือชื่อหนังสือน่ะดีครับดูแล้ว “โอ้…ใช่เลย” แล้วเค้าก็พยายามทำให้มันดีครับ แต่ว่าเนื้อหามันไม่โอเค คืออย่างแรกเลยเนื้อหามีการใส่พวกคำคมเพื่อสื่อความหมาย แต่ประเด็นคือคำคมมันมักตีความได้หลายทาง ถ้าหากเราไม่เข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมและสังคมที่เป็นที่มาของคำคมนั้นๆ เราก็จะไม่มองในมุมเดียวกัน คือว่าง่ายๆ ว่าเราเข้าใจครับแต่โดยมุมมองส่วนตัวตามภูมิความรู้ที่เรามีนั่นเอง แล้วมันก็ดูจะไม่เข้ากับเนื้อหาอี้จิงที่ต้องอิงกับวัฒนธรรมกับแนวคิดแบบจีนด้วย มันเลยเหมือนส่วนเกินความจำเป็นจนดูเหมือนเป็นเนื้อหาเพ้อๆ แต่โอเคครับว่าผมยังชื่นชมในคำคมพวกนั้นนะครับ และผมชอบอ่านด้วย คือชอบอ่านคำคมนั้นๆที่เอามาใส่ แต่ไม่ชอบเพราะมันเกินความจำเป็นสำหรับอี้จิงน่ะครับ แล้วส่วนเนื้อหา…ค่อนข้างเยอะเกินไปจนจนเสียความหมายเดิมไปหมด คือมันเป็นความหมายจากความคิดผู้เขียนมากกว่าครับจนผมอ่านแล้วจำไม่ได้ว่าเนื้อหาเดิมมันคืออะไรกันเลยทีเดียว ไอ้ที่ควรสั้นๆก็ยาวซะแล้วก็วนเวียนไปเรื่อยๆจนเหมือนอ่านเนื้อหาซ้ำๆ จน…มันไม่เหลือเนื้อหาอี้จิงเหมือนชื่อหนังสืออ่ะครับ นี่ยังไม่นับในส่วนของการแปลผิด และการเรียงความหมายเส้นผิดที่ผิดทางผิดเส้นผิดลายจนผมพลาดไปหลายที ผมเลยไม่ใช้เล่มนี้อีกเลย…
ปัจจุบันเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 5 ครับ ชื่อ “ศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อความสำเร็จ : อี้จิง” แทนครับ ชื่อออกแนวการตลาดนิดๆ แต่ผมคิดว่าเนื้อหาแบบนี้คนส่วนใหญ่จะชอบแบบนี้นะครับ เนื้อหาแบบเพ้อๆ แต่ผมชอบอ่านเนื้อหาดั้งเดิมแล้วต่อยอดความคิดเองมากกว่าครับ มากกว่าให้หนังสือมาเพ้อให้ฟังเพราะผมรู้สึกว่ามันเสียความหมายเดิมครับ
อย่างไรก็ตาม ถึงผมวิจารณ์ซะเสียก็จริง แต่ผมก็ยอมรับว่าผู้เขียนพยายามกับเล่มนี้มากครับ ดังนั้นเล่มนี้จะดีมากกับผู้ที่ชอบครับ พอดีผมไม่ชอบแค่นั้นเอง…ยังไงก็สรุปว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มนึง แค่อ่านส่วน Quotation ที่ผู้เขียนเอามาใส่ก็คุ้มสุดๆละครับ แค่เนื้อหาอี้จิงเพี้ยนบ้างแค่นั้นเองครับที่ทำให้ผมไม่ชอบเล่มนี้ แต่สำหรับผู้ที่ชอบแนวอธิบายเชิงปรัชญามากๆๆๆ เล่มนี้เหมาะสุดๆครับ
ซื้อจาก “ร้านหนังสือดอกหญ้าาาา” ครับ (ที่ผมแซวดอกหญ้าบ่อย เพราะยุคสมัยที่ร้านดอกหญ้ารุ่งเรืองมันนานมาแล้วครับ)
![]() |
6. อี้จิง ศาสตร์มหัศจรรย์แห่งการทำนาย |
ถัดมา เล่มนี้จริงๆผมไม่ได้ซื้อไว้นะครับ คือไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ผมมาเขียนรีวิวนิดนึงเพื่อเป็นแนวทางครับเพราะผมเคยอ่านเล่มนี้(ยืนอ่านในร้าน) เล่มนี้แปลจากภาษาอังกฤษครับ เป็นเนื้อหาแนวทำนายซึ่งตีความแล้วดูจะมีเนื้อหาผิดๆเพี้ยนๆเยอะเอาเรื่องครับ รวมทั้งชื่อฉักลักษณ์ต่างๆที่แปลคำเรียกจากภาษาอังกฤษทำให้ดูมั่วๆครับ เอาว่าไม่ต้องหาซื้อก็ได้ครับเล่มนี้
อ้อ เล่มนี้ผมเจอที่ร้านหนังสือในขอนแก่นครับ จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าร้านไหน…
![]() |
7. โปเยโปโลเย ตอนภูติสาวคืนวิญญาณ |
ถัดมาเลยนะครับ แต๊นน “โปเยโปโลเย ตอนภูตสาวคืนวิญญาณ” โดย น.นพรัตน์ครับ แน่นอนครับไม่ใช่ตำราอี้จิงครับ แต่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับอี้จิงที่น่าอ่านครับจากตอนแรกของเล่มคือ “ภูติสาวคืนวิญญาณ” ครับ เรื่องราวคือวิญญาณสาวอู่ชิวเยี่ย มีพ่อเป็นปรมาจารย์อี้เสวี่ยชื่ออู่เยี่ย ทำการซ่อนวิญญาณด้วยฉักกะลักษณ์ “คุ่น” ทำการซ่อนวิญญาณไว้ 30 ปี และทำนายว่าจะคืนชีพและแต่งงานกับพระเอกหวังติ่งครับ จริงแล้วนิยายนี้ น.นพรัตน์เขียนประกอบละครทีวีช่องสามเมื่อปี 2539 ครับ ถือเป็นยุคสุดท้ายของละครจีนที่พอดูได้ละมั๊งครับ เพราะหลังจากนั้นหนังฮ่องกงบ้าปล่อยแสงครับ เลยสร้างแต่หนังเทพให้มันเหาะกันมันส์ทั้งเรื่อง ปล่อยแสงกระจายมันทุกตอน สเปเชี่ยลเอฟเฟ็คให้มันตายกันไปข้าง….ชักนอกเรื่องละครับ เอาว่าละครนี่ผมติดครับ โดยเฉพาะตอนภูติสาวคืนวิญญาณยิ่งติดครับเพราะมีอี้จิงในเรื่องทุกตอน ปัจจุบันผมยังโหลดเรื่องนี้เป็นภาษาจีนมาเก็บไว้ดูเลยครับ ใครจำไม่ได้ก็ต้องไปดูที่เว็บจีนครับwww.tudou.com/playlist/id/1956635/ ดังนั้นสรุปว่าเล่มนี้ไม่ใช่อี้จิง แต่มีเนื้อหาเกี่ยวอี้จิงมากกว่าเล่มที่มีแต่คำทำนายหลายเท่าครับผม
อาาาา ว่าจะไม่เขียนแล้วนะ แต่ว่าเล่มนี้เป็นสำนักพิมพ์ดอกหญ้าครับ ซื้อจากร้านดอกหญ้าขอนแก่นครับ(แน่นอนครับ ปัจจุบันไม่มีเหลือซักร้าน)
![]() |
8. อัฏฐสุตรา |
สุดท้ายละครับ “อัฏฐสุตรา” โดย วินทร์ เลียววาริณ แน่นอนว่าไม่ใช่ตำราอี้จิงครับ แต่ว่าเป็นนิยายสั้นที่เอาเนื้อหาเชิงตัวเลขของศาสตร์การเปลี่ยนแปลงหรืออี้จิงมาใช้ในเรื่องครับ ทั้งการตีความ 5 ธาตุ แผนภาพอัฏฐลักษณ์ก่อนสวรรค์และหลังสวรรค์ รวมทั้งแผนภาพแม่น้ำเหอและลั่ว ผนวกกับทฤษฎีซูเปอร์สตริงมาเป็นนิยายสั้นหักมุมจบในห้องเดียวไม่ไปไหน…เอิ๊กก ไม่วิจารณ์มากครับ สรุปว่าอ่านสนุกอยู่ กับเนื้อหาที่เอามาลงก็ใช้ได้ครับ แน่นในระดับนึง ยังไงก็ไม่วิจารณ์มากละครับ ไปหาซื้ออ่านกันได้ครับยังมีขายอยู่
![]() |
9. อี้จิง ศาสตร์พื้นฐานแห่งชีวิต |
เล่มนี้เป็นหนังสือที่แปลจากผลงานของนักเขียนจีน คือเจิงซื่อเฉียงและหลิวจวินเจิ้ง ผมเคยอ่านเล่มต้นฉบับจีนมาก่อนเพราะที่เมืองจีนขายดิบขายดี คนเขียนไปออกบรรยายในช่องโทรทัศน์ CCTV ด้วย เล่มภาษาจีนนั้นชื่อว่า “อี้จิงเจินเตอเหิ่นหรงอี้” แปลว่า “อี้จิงง่ายจุงเบย (จังเลย)” เนื้อหาคือการอธิบายหลักการและแนวคิดของอี้จิง คือผิวเผินแล้วเหมือนจะดี แต่ว่ากลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเนื้อหาค่อนข้างกลวง มีแต่การยกอ้างไปมา ไม่ได้เข้าถึงเนื้อหาวิชา แล้วจับเอาองค์ความรู้นั่นนี่มาใส่ให้ดูมีเนื้อหา แต่เนื้อหาจริงๆกับมีนิดเดียว น้ำเยอะ เนื้อน้อย กลวงซะมาก และที่สำคัญคือการยกย่องแนวคิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างโจ่งแจ้ง ตามธรรมเนียมของการนำเอาองค์ความรู้โบราณมารับใช้พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง
เล่มภาษาจีนผมโยนทิ้งตอนอ่านไปได้ครึ่งเล่ม
เป็นไงมั่งครับมีใครอยากไปหาซื้อเล่มไหนมาอ่านกันหรือยังครับ จริงๆนี่แค่ส่วนหนึ่งที่ยังมีเก็บไว้ครับ จริงๆมันยังมีหลายเล่มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์โนเนม แต่เป็นแนวอ่านแล้วฝรั่งจ๋าเพราะแปลจากภาษาอังกฤษหรือไม่ก็ออกแนวทำนายรัก อะไรพวกนั้นซึ่งไม่ได้ซื้อเก็บไว้ก็หลายเล่มครับ แต่เท่าที่มีนี่ก็เป็นเล่มหลักๆใหญ่ๆเท่าที่มีพิมพ์กันมาครับ ถือว่าเป็นแนวทางในการเลือกหรือหาซื้อสำหรับทุกท่านนะครับ