“โจวอี้” คือคัมภีร์หรือตำราอธิบายกว้าหรือฉักลักษณ์ทั้ง 64 และลายเส้นทั้งหมดภายในกว้าหรือฉักลักษณ์ ซึ่งเขียนขึ้นโดย โจวเหวินหวัง แห่งราชวงค์โจว และโจวอี้นี้ก็คือคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงหรืออี้จิงเพียงฉบับเดียวที่ยังสมบูรณ์และเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วนคัมภีร์อื่นๆนั้นได้ถูกทำลายและสูญหายไปจนไม่อาจจะประติดประต่อเนื้อความได้อีก
โจวอี้นั้นเกิดจากเจ้าเมืองนามจีฉาง(โจวเหวินหวัง) ได้ถูกโจ้วหวังจับกุมตัวกักไว้เพื่อทดสอบจีฉาง ในระหว่างที่จีฉางถูกกักตัวอยู่นั้น เขาได้นำความรู้เรื่องอี้จิง ที่เคยศึกษามาเรียบเรียงด้วยเนื้อหาจากสถาณการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้น โดยอธิบายฉักลักษณ์ทั้ง 64 ลาย และได้เขียนอธิบายการเปลี่ยนแปลงของลายเส้นทุกลายในฉักลักษณ์ บันทึกเป็นตำราไว้ ต่อมาตำรานี้จึงถูกเรียกว่า “โจวอี้” หรือ”เปลี่ยนราชวงค์โจว”
![]() |
กษัตริย์โจวเหวินหวัง |
โจวอี้ หรือที่รู้จักกันว่าอี้จิงหรือคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น มีเนื้อความคล้ายโศลกสั้นๆที่อธิบายเนื้อความอย่างลึกซึ้ง เนื้อความการอธิบายได้ครอบคลุมเนื้อหาในโลกหล้าไว้ ทั้งยังแสดงลำดับขั้นตอนการก่อเกิดตามลำดับลายเส้นอย่างครบครัน ดังนั้นคัมภีร์เล่มนี้จึงเป็นปรัชญาความรู้ที่คนโบราณได้ตกทอดมาถึงเราในยุคปัจจุบัน และเมื่อเนื้อความทั้งหมดนั้นครอบคลุมสถานะการณ์ในชีวิตคนผู้หนึ่ง มันย่อมสามารถทำนายชีวิตคนผู้นั้นผ่านคำบรรยายอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นโจวอี้จึงถูกใช้ทั้งเป็นแนวทางปรัชญา และการทำนายทายเหตุการณ์เพื่อชี้นำทางในชีวิต
สิ่งที่เป็นปัญหาในการศึกษาโจวอี้ หรือคัมภีร์อี้จิงนี้ก็คือความลึกซึ้งของเนื้อหาที่ยากจะเข้าใจ บางบทบางตอนยังต้องเข้าใจสภาพสังคมและการเมืองในขณะนั้น ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วจึงมักอ่านและใช้โจวอี้กันอย่างผิวเผิน เช่นใช้ในทางทำนายอย่างผิวเผินเพียงอย่างเดียว โดยมีการตีความเป็นคำทำนายเฉพาะเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยไม่คงเนื้อหาของโจวอี้ไว้เลย ส่วนที่เขียนบรรยายบมความ บ้างก็เขียนออกแนวปรัชญาที่เยิ่นเย้อเขียนวกไปวนมาแต่ยังแก้เนื้อความสั้นๆของโจวอี้จนเสียความหมายเดิมไปอีก ทำให้โจวอี้เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก น่าเบื่อ และเข้าใจได้เพียงผิวเผินไป
อีกประการคือ คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าโจวอี้หรือคัมภีร์อี้จิงนี้คือสิ่งเดียวกับวิชาฮวงจุ้ย หรือวิชาตั้งกว้าทำนายทายทักอย่างอื่นที่อาศัยการตั้งฉักลักษณ์เช่นกัน ซึ่งอยากให้เข้าใจว่า โจวอี้หรืออี้จิงคือคัมภีร์โศลกเล่มหนึ่งที่บรรยายฉักลักษณ์ทั้ง 64 หาใช่วิชาฮวงจุ้ย หรือวิชาทำนายแบบตั้งกว้า(ฉักลักษณ์)วางเส้นกว้าแบบที่เรียกว่า “น่าเจี่ย” ไม่ ดังนั้นการทำความเข้าใจโจวอี้ ต้องทำการอ่านบทอธิบายฉักลักษณ์ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เปรียบเทียบกับชีวิตประจำวัน และทำความเข้าใจหลักการเปลี่ยนแปลงภายในเนื้อหา หากต้องการทำนายเพื่อหาบทความเป็นเครื่องชี้แนวทาง ก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนที่ได้มีการวางวิธีไว้ การหมั่นใช้หมั่นถามคือทางหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจโจวอี้ได้มากขึ้น
โจวอี้นั้นมีสองส่วน ส่วนหน้า30 บท และส่วนหลัง 34 บท โจวอี้ฉบับปัจจุบันนั้นเคยได้รับการเขียนบทวินิจฉัยประกอบเนื้อความโดย ขงจื้อ หรืออาจจะถูกเพิ่มเติมโดยปราชญ์ท่านอื่นๆตลอดมา แม้ขงจื๊อในวัย 70 ยังกล่าวว่า “หากฉันมีอายุยืนยาวอีก 50 ปี จะขอใช้เวลาที่เหลือศึกษาโจวอี้ และด้วยเหตุนั้นฉันย่อมหลีกจากความผิดพลาดทั้งปวงได้” และขงจื้อเองได้จับต้องโจวอี้บ่อยจนเชือกที่ผูกคัมภีร์นั้นหลุดถึงสามครั้งสามครา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขงจื๊อเองได้ให้ความสนใจต่อโจวอี้อย่างยิ่ง
สำหรับโจวอี้ในประเทศไทยนั้น ได้มีการแปลและตีพิมพ์อยู่หลายครั้งหลายสำนวน ส่วนใหญ่แล้วจะแปลจากตำราภาษาอังกฤษ บ้างก็เป็นหนังสือตีความเพื่อทำนายโดยไม่สนใจเนื้อหาเดิม เล่มที่แปลได้ดีและเชื่อถือได้มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น คือเล่มที่ชื่อว่า “อิกิง” ส่วนเล่มที่เป็นแนวคล้ายๆกันนั้น ทั้งหมดแปลจากภาษาอังกฤษซึ่งเรียบเรียงเนื้อหาไม่ถูกและเขียนตีความเยิ่นเย้อมากกว่าจะเรียกว่าแปลเนื้อความของโจวอี้ ส่วนเล่มที่ตีความทางคำทำนายก็มีหลายเล่ม มีทั้งแปลทางทำนายทางธุรกิจ ความรัก เรื่องทั่วไป แต่เล่มที่ได้แปลและนำเนื้อหาโจวอี้มาเป็นแนวทางการทำนายอย่างตรงไปตรงมานั้น ยังไม่มี
ดังนั้นผมจึงคิดจะแปลเนื้อความโจวอี้ โดยจะพยายามอธิบายความหมายจากภาษาจีนในเชิงตีความเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยไม่ดึงหรือนำเอาเนื้อหาอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาปะปนจนเกิดความสับสนเหมือนที่ตำราหลายต่อหลายเล่มได้ทำมา ซึ่งคงจะต้องเขียนออกมาเป็นลักษณะของบทความทีละบท ซึ่งก็คงจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการเขียนและแก้ไขความถูกต้อง และขอได้ติดตามกันต่อไปครับ