เราเคยทำความรู้จักกับคัมภีร์โจวอี้ไปแล้วระดับหนึ่งจากบทความเดิมคือ รู้จักคัมภีร์โจวอี้ และเพื่อให้เป็นการรู้จักคัมภีร์โจวอี้ให้ดีขึ้นและเข้าใจส่วนประกอบของคัมภีร์ให้มากขึ้น ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความอธิบายขึ้นอีกครั้ง โดยรวมเอาการอธิบายโครงสร้างของคัมภีร์โจวอี้ไว้ด้วย
นับจาก ฝูซี กษัตริย์ยุคดึกดำบรรพ์ของจีนได้ทำการกำหนดสัญลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยขีดหยิน-หยางจนกลายเป็นตรีลักษณ์ทั้งแปดที่เรียกว่าอัฐลักษณ์ขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้นชาวจีนต่างก็พยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงหลักการและความหมายของตรีลักษณ์เหล่านี้ และได้นำมาเป็นเครื่องชี้นำการปกครองและการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆเสมอมา แน่นอนว่าในยุคโบราณนั้นการชี้นำประเทศและสังคมด้วยคำพยากรณ์นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับและนับถือ ดังนั้นตรีลักษณ์ทั้งแปดจึงมีหน้าที่ในการให้คำพยากรณ์แก่กษัตริย์ ข้าราชการ แม่ทัพ และสังคมทั้งหมดด้วย และเมื่อชาวจีนเริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้ การอธิบายความหมายของตรีลักษณ์ทั้งแปดด้วยอักษรภาษาก็เริ่มมีขึ้นและเริ่มมีการจดบันทึกเป็นตำราขึ้นมา
ตำราที่เรารู้จักกันสองเล่มแรกคือเหลียนซานและกุยฉางนั้นหายสาบสูญไปสิ้นในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามในยุคปลายราชวงค์ซาง เจ้านครปัจจิมนาม จีซาง ได้ศึกษาคัมภีร์ทั้งสองนี้ นำตรีลักษณ์มารวมกันเป็นฉักลักษณ์และรจนาคัมภีร์ขึ้นมาชื่อว่า โจวอี้(การเปลี่ยนแปลงแห่งโจว) เมื่อบุตรชายของจีซางนามจีฟาได้ทำการล้มล้างราชวงค์ซางที่ชั่วร้ายลงและสถาปนาราชวงค์โจวขึ้นมาแทน จีซางจึงได้รับการอวยยศให้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์โจวนาม โจวเหวินหวัง ส่วนจีฟาได้เป็นกษัตริย์ปกครองราชวงค์โจวนาม โจวอู่หวัง
หลังจากโจวอู่หวังสิ้นพระชนม์ โจวกง น้องชายของโจวอู่หวังได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน และโจวกงได้ทำการเขียนความหมายลายเส้นเพิ่มเข้าไปในคัมภีร์โจวอี้เดิม จนมีความหมายครบทั้งฉักลักษณ์และลายเส้น
หลังยุคของโจวกงราวห้าร้อยปี นักปราชญ์มหาบุรุษแห่งลัทธิหยูนาม ขงจื้อ ได้หลงไหลในคัมภีร์โจวอี้นี้มาก และได้เริ่มเขียนบทวิพากษ์และอธิบายความหมายของคัมภีร์โจวอี้นี้ คัมภีร์ที่ขงจื้อได้เขียนขึ้นนี้ชื่อว่า อี้จ้วน และเนื่องจากคัมภีร์มีทั้งหมด 10 ม้วนไม้ไผ่ จึงถูกเรียกว่า สือยี่ หรือ ปีกทั้งสิบ (ว่ากันว่าไม่ใช่ขงจื้อเขียนคนเดียว แต่น่าจะรวมศิษย์ของของจื้อด้วย)
![]() |
ขงจื้อ |
เมื่อถึงราชวงค์ฮั่น พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ประกาศยกย่องลัทธิหยูและใช้หลักของขงจื้อเป็นแบบแผนการปกครองประเทศ คัมภีร์โจวอี้จึงถูกยกย่องและเนื้อหาในคัมภีร์ปีกทั้งสิบนั้นก็ได้ถูกผนวกเข้ากับเนื้อหาเดิมของคัมภีร์โจวอี้ และต่อมาได้เรียกคัมภีร์นี้ว่า อี้จิง (โดยรวมหมายถึงกุยฉางและเหลียนซานที่สาบสูญด้วย เพื่อเป็นการยกย่องคัมภีร์ทั้งสองนั้น)
เพื่อให้รู้จักโครงสร้างของคัมภีร์อี้จิง ดังนั้นผมจึงขออธิบายโครงสร้างของคัมภีร์โดยละเอียดในที่นี้ครับ ซึ่งคัมภีร์อี้จิงประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
ชื่อของฉักลักษณ์ (กว้าหมิง) คือชื่อของฉักลักษณ์ทั้ง 64 กำหนดขึ้นโดยโจวเหวินหวัง
เนื้อความ (กว้าสือ) คือเนื้อความอธิบายฉักลักษณ์ เขียนโดยโจวเหวินหวัง
คำไขฉักลักษณ์ (ท่วนสือ) คือคำอธิบายเนื้อความของโจวเหวินหวัง โดยฝ่ายลัทธิหยูหรือขงจื้อ เนื้อความนำมาจากคัมภีร์ปีกทั้งสิบ
ภาพลักษณ์ (กว้าเซี่ยง) คือภาพลักษณ์ของฉักลักษณ์ เป็นการอธิบายฉักลักษณ์แต่ละตัวในเชิงภาพลักษณ์ โดยฝ่ายลัทธิหยูหรือขงจื้อ เนื้อความนำมาจากคัมภีร์ปีกทั้งสิบ
เนื้อความของลายลักษณ์ (เหยาสือ) คือความหมายของเส้นทั้งหกเส้นในแต่ละฉักลักษณ์ เขียนโดยโจวกงมีทั้งสิ้น 386 วลี (384 วลีของลายเส้นทั้งหกของ 64 ฉักลักษณ์ กับอีก 2 วลีของบทกลับในฉักลักษณ์ฉียนและคุน)
ภาพลักษณ์ลายลักษณ์ (เหยาเซี่ยง) คือคำอธิบายภาพลักษณ์ของเส้นทั้งหกของโจวกง โดยฝ่ายลัทธิหยูหรือขงจื้อ เนื้อความนำมาจากคัมภีร์ปีกทั้งสิบ
โดยโครงสร้างทั้งหมดนี้เองที่ทำให้คัมภีร์โจวอี้เป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ขึ้นโดยอิงกับปรัชญาของฝ่ายหยู(ขงจื้อ) และเรียกว่าคัมภีร์อี้จิง(จิงแปลว่าคัมภีร์)ในกาลต่อมา
ปัจจุบันหากเราศึกษาตำราอธิบายอี้จิงที่เขียนโดยนักปรัชญาสมัยต่างๆแล้ว จะพบว่าตำราอธิบายอี้จิงที่ได้รวมเอาเนื้อความจากคัมภีร์สิบปีกของขงจื้อเข้าไปด้วยนั้นมีตั้งแต่สมัยราชวงค์ฮั่นแล้ว ยกตัวอย่างเช่นตำราของ หวังปี้ แห่งปลายราชวงค์ฮั่นหรือยุคสามก๊ก เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผ่านมานั้นการอ้างอิงคัมภีร์อี้จิงนั้นก็ยังมีแตกต่างกันอยู่บ้าง ถ้าเป็นนักปรัชญาฝ่ายลัทธิหยูมักจะอ้างอิงคัมภร์อี้จิงที่ผนวกเอาเนื้อความ จากคัมภีร์สิบปีกของขงจื้อเข้าไปด้วย ขณะที่บางฝ่ายนั้นจะเน้นที่ความหมายเดิมของโจวเหวินหวังและโจวกงเท่านั้นโดย ไม่อ้างอิงเนื้อความของขงจื้อเนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในฝ่ายรูปลักษณ์และพยากรณ์แล้วมักจะไม่อ้างถึงเลย อย่างไรก็ดีในความเห็นของผม(ผู้เขียนบทความ)คิดว่าลำพังเนื้อความของโจวเหวินหวังและโจงกงก็มีความครอบคลุมเพียงพอและมีความหมายที่ลึกซึ้งเกินหยั่งแล้ว ดังนั้นเนื้อความส่วนของขงจื้อจึงเป็นเหมือนปีกหรือส่วนเสริมที่ยื่นออกมา ซึ่งจะศึกษานั้นก็คงแล้วแต่ความชื่นชอบ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือถือเป็นหัวใจของคัมภร์นั้นก็คือเนื้อหาของโจวเหวินหวังและโจวกงนั่นเองครับ