นับแต่โบราณมามีปราชญ์และบัณฑิตในแผ่นดินจีนมากมายซึ่งได้ทิ้งไว้ ซึ่งตำราและคัมภีร์อันมีค่าจนถึงปัจจุบัน เราคนรุ่นหลังล้วนแต่ได้มีโอกาสศึกษาความรู้ที่สั่งสมมาจากคนรุ่นก่อนๆของคนโบราณเหล่านี้ได้โดยง่าย ในจำนวนนี้แม้แต่กับชาวไทยแล้วก็นับว่าเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นนิยายสามก๊ก คัมภีร์กลยุทธ์ไม่ว่าจะ 36 กลยุทธ์ กลยุทธ์ขงเบ้ง กลยุทธ์ของซุนจื่อ หรือจะเป็นคัมภีร์แห่งการยืดหยุ่นพลิกแพลงอย่างฉางต่วนจิน ไปจนถึงคัมภีร์แห่งจริยาอย่างหลุนอวี่ของขงจื่อ หรือแม้แต่คัมภีร์ปรัชญาอย่างจวงจื่อและเต้าเต๋อจิง(เต๋าเต็กเก็ง)ของเหลา จื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้นับว่าเป็นที่นิยมกันไม่น้อย เพียงแต่หากให้ผมกล่าวด้วยอัตวิสัยแล้วทั้งหมดนี้ยังไม่มีอิทธิพลต่อสังคมจีนได้เท่าคลื่นลูกใหญ่ที่สุดแห่งสรรพความรู้ของจีนอย่างคัมภีร์อี้จิงเลย(โดย อัตวิสัยนะครับ แต่ในแง่ประวัติศาสตร์อาจจะยกเว้นหลุนอวี่กับเต้าเต๋อจิงนะครับ)
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายอย่างที่สุดคือปัจจุบันนี้คัมภีร์อี้จิงถูกผูกขาด ว่าเป็นแค่เพียงคัมภีร์แห่งการพยากรณ์เล่มหนึ่งเท่านั้น ยิ่งพอเหล่าซินแสยกเอาหลักวิชาอัฏฐลักษณ์หรือปากว้ามาบอกว่าคืออี้จิงแล้ว ความเข้าใจผิดนี้ก็ยิ่งมากขึ้นจนไม่สามารถเรียกกลับมาได้ จนผู้คนลืมไปว่าอี้จิงคือคัมภีร์ที่ถูกบันทึกไว้โดยโจวเหวินหวังปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์โจว และโจวกงผู้บุตรผู้วางระเบียบการปกครองและสร้างสรรค์วัฒนธรรมให้แก่ราชวงค์ และถูกขยายความด้วยปราชญ์แห่งจรรยาอย่างขงจื้อ และถูกวิพากษณ์และอธิบายด้วยปราชญ์และบัญฑิตจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนจากทุกราชวงค์ในประวัติศาสตร์จีน และหาใช่วิชาทำนายด้วยหลักการพยากรณ์โดยใช้อัฏฐลักษณ์หรือแม้แต่วิชาฮวงจุ้ย อย่างที่ซินแสกระทำกันไม่ อย่าลืมนะครับว่าคัมภีร์อี้จิงคือคัมภีร์เล่มหนึ่งที่บันทึกโดยกษัตริย์นะครับ
ความหมายของคัมภีร์อี้จิงนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกอ้างด้วยอัตวิสัยของผู้ใช้ เช่นหมอดูก็จะบอกว่ามันคือตำราหมอดู นักฮวงจุ้ยก็จะบอกว่ามันคือตำราฮวงจุ้ย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากคัมภีร์นี้ล้วนประกอบด้วยถ้อยความโบราณที่ยากแก่การเข้าใจ ดังนั้นคัมภีร์อี้จิงคืออะไรกันแน่และมีไว้เพื่ออะไรก็ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถมีใครบอกได้อย่างแท้จริงในปัจจุบัน ผู้คนจึงได้แต่พยายามอ้างความหมายของคัมภีร์นี้ด้วยอัตวิสัยของตัวเอง
ดังนั้นเราลองมาศึกษาอี้จิงตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์กันดูดีมั้ยครับ
คัมภีร์อี้จิงคือคัมภีร์หนึ่งที่อาจอ่านยากที่สุด มันไม่มีการพรรณาหรืออธิบายและเต็มไปด้วยปริศนา ถ้อยคำทุกวรรคทุกตัวอักษรมีแง่มุมมหาศาลให้ดีความและอธิบาย มันจึงถูกอธิบายในหลายแง่มุมจนบางครั้งผู้อธิบายก็ลืมคิดกลับไปถึงที่มาของคัมภีร์นี้และตีความออกนอกลู่นอกทางไปมากจนกู่ไม่กลับ แต่ที่น่าแปลกใจว่าคัมภีร์นี้แม้เข้าใจยากแต่มันก็ยังกลายเป็นต้นธารแห่งสรรพวิชาของจีน และถูกกล่าวขานและแนะนำเสมอ มันคือวิชาที่ต้องเรียนสำหรับบัณฑิตและผู้ที่คิดเป็นใหญ่ สมัยก่อนนั้นมีคำกล่าวว่า “ผู้นำเรียนอี้จิง การสอนจรรยาและคุณธรรมมีไว้เพื่อสั่งสอนไพร่(ประชาชน)” นี่ย่อมแสดงให้เห็นได้ถึงความสำคัญของคัมภีร์อี้จิงได้เป็นอย่างดี
เมื่อครั้งเหวินหวังถูกกักตัวอยู่นั้นคือช่วงปลายของราชวงค์ซางซึ่ง ปกครองด้วยกษัตริย์โจ้วหวังผู้โหดเหี้ยม บ้านเมืองตกต่ำฟอนเฟะ เหวินหวังนั้นแม้ถูกกักตัวแต่ก็ยังไม่ทิ้งปณิธานที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศด้วยการโค่นล้มโจ้วหวังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น เพียงแต่ว่าในยามที่เหวินหวังถูกขังอยู่นั้นจะมีแม้แต่อนาคตที่สามารถกลับออกไปได้หรือไม่ยังไม่รู้เลย เหวินหวังจึงได้บันทึกคัมภีร์ไว้เล่มหนึ่งซึ่งเขียนถึงมุมมองต่อสถานการณ์ ปณิธาน ความหวัง แผนการณ์ ของตนออกมา ซึ่งผมคาดเดาเอาเองว่าเหวินหวังเองหากไม่สามารถออกไปได้ก็ยังหวังว่าคัมภีร์นี้จะตกถึงลูกหลานของตน หากถึงมือโจวกงบุตรชายแล้วก็เชื่อว่าต้องสามารถเข้าใจความและใช้ถ้อยความใน คัมภีร์นี้เป็นเครื่องมือให้แก่โจวอู่หวังผู้พี่ใช้ในการโค่นล้มราชวงค์ซางแน่นอน…
ในช่วงที่เหวินหวังถูกขังเขาถูกโจ้วหวังตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่ามีความคิดที่จะล้มบัลลังค์ของโจ้วหวังหรือไม่ จนแม้แต่ครั้งหนึ่งเพื่อทดสอบปัญญาของเหวินหวัง โจ้วหวังถึงกับเฉือนเนื้อน่องของจีโข่วบุตรชายเหวินหวังมาทำซุปให้กิน เหวินหวังได้แต่แกล้งไม่รู้ความและดื่มซุปนั้นลงไป ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ที่ว่าเหวินหวังนั้นเพื่อปกปิดปณิธานของตนไม่ให้โจ้วหวังรู้ จึงต้องบันทึกคัมภีร์นี้ในรูปแบบของตำราพยากรณ์เพื่อให้เหวินหวังตายใจ และคิดว่าเหวินหวังนั้นวันๆเอาแต่ศึกษาตำราพยากรณ์จึงไม่มีพิษสงใดและปล่อยตนไปในที่สุด
![]() |
กษัตริย์เหวินหวังผู้รจนาอี้จิง |
แต่แม้จะถูกขังอยู่ แต่เหวินหวังก็ไม่เคยละทิ้งปณิธาน แต่เฝ้าครุ่นคิดถึงวิธีการในการปฏิวัติเปลี่ยนราชวงค์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากเราอ่านคัมภีร์อี้จิง จะพบว่ามีถ้อยความที่เกี่ยวข้องกับการรอ การอดทนการบ่มเพาะตัวเองโดยไม่ปล่อยปละละทิ้งปณิธานของตนอยู่เต็มไปหมด
นี่จึงเป็นหนังสือที่มาจากปณิธานของผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ในยามที่ต้องอับจนและถูกกักขัง!!!
หรือก็คือคัมภีร์อี้จิงนั่นเอง….
และผมคิดไม่ออกจริงๆว่าถ้ามันคือหนังสือพยากรณ์ธรรมดาโดยไม่มีอะไรในกอไผ่แบบที่ซินแสว่า คนระดับเหวินหวังจะมานั่งเขียนหนังสือพยากรณ์ธรรมดาๆเล่มนึงในตอนถูกกักตัวทำไม?
คัมภีร์นี้เมื่อถูกขยายความโดยโจงกงซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งราชวงค์โจวในรุ่นถัดมา มันก็มีถ้อยความเกี่ยวกับการบริหารและการปกครองอยู่เต็มไปหมดอีกด้วย ดังนั้นนี่จึงเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในด้านของการสร้างความยิ่งใหญ่ เพื่อขึ้นเป็นผู้นำรวมทั้งการบริหารและการปกครอง
หากเราพิจารณาชื่อฉักลักษณ์ในคัมภีร์อี้จิง เราจะพบว่าอี้จิงนั้นมีทั้งฉักลักษณ์ ปฐมวิบากบอกให้เราระมัดระวังในยามเริ่มต้น รอคือรอเมื่อไม่พร้อม ถอยคือถอยเมื่ออับจน สันติสุขคือการคืนสันติสุขสู่ประชา ร่วมมือคือการแสวงหาความร่วมมือระหว่างแคว้น กองทัพคือการใช้ทหาร ก้าวหน้าคือการเลื่อนยศ ครอบครัวคือการสร้างพื้นฐานสังคม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการมองสถานการณ์อันกระจ่างแจ้งของเหวินหวังซึ่งไม่เพียงแต่ ในปัจจุบันแต่ไปถึงอนาคตที่บุตรชายจะโค่นล้มราชวงค์ซางทั้งสิ้น
และเมื่อพิจารณาว่าในฐานะกษัตริย์ของเหวินหวังแล้ว เขาน่าจะเขียนคัมภีร์แสดงปณิธานและชี้แนะการเมืองการปกครองมากกว่าที่จะเป็นหนังสือให้ตีความด้านคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า คัมภีร์อี้จิงคือคัมภีร์แห่งผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน!!!
มีคำกล่าวว่า “ไม่ศึกษาอี้จิง ไม่อาจเป็นใหญ่ – 不学易 不可以为将相” จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี(แน่นอนว่าหากมันเป็นแค่ตำราดูดวง คงไม่มีคนโบราณกล่าวไว้เช่นนี้)
บ้างก็กล่าวว่า อี้จิงคือคัมภีร์สวรรค์
บ้างก็กล่าวว่า นี่คือคัมภีร์ที่ภูตเทพล้วนต้องครั่นคร้าม
ในประวัติศาสตร์นั้น ผู้ที่สามารถถึงขั้นเปลี่ยนราชวงค์นั้นมีไม่น้อย แต่ผู้เปลี่ยนราชวงค์ที่เปี่ยมคุณธรรมที่บันทึกปณิธานและการมองแจ้งแตกฉานถึงอนาคตที่ต้องกระทำไว้นั้น มีเหวินหวังเพียงผู้เดียว!!! แม้แต่ขงเบ้งที่เลื่องชื่อด้วยนิยายสามก๊กนั่นก็ยังได้แต่ตัดพ้อถึงปณิธาน ที่ไม่สำเร็จของตนเองเท่านั้น
ดังนั้นคัมภีร์นี้แม้ยากเข้าใจ แต่ก็มีผู้พยายามอธิบายและขยายความอยู่มากมาย หากนับดูแล้วไม่ว่าคัมภีร์เต๋าอย่างเต้าเต๋อจิง คัมภีร์จวงจื่อ ม่อจื่อ แม้แต่หลุนอวี่ของขงจื้อ ก็เพียงแต่ถูกอ้างถึงเท่านั้น แต่กับคัมภีร์อี้จิงนั้นกลับมีปราชญ์และบัณฑิตมากมายมหาศาลในทุกราชวงค์ได้พยายามเขียนอธิบายและตีความไว้ ซึ่งแน่นอนว่ามากมายกว่าทุกคัมภีร์ของจีน นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมันได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงน่าเสียดายมากที่เราถูกล่อลวงด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อขายหนังสือทำให้เราเข้าใจผิดและละหนังสือที่มีค่าแท้จริงที่สุดอย่างอี้จิงไป(อย่างเช่นอ่านสามก๊กเพื่อเป็นผู้นำ อาา ซึ่งถ้าหนังสือสำหรับผู้นำและการปกครอง หากอ่านอี้จิงไม่ได้ผมแนะนำให้อ่านฉางต่วนจิงจะดีกว่าครับ เพราะเป็นหนังสือสำหรับการปกครองมาแต่โบราณแล้ว)
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเขียนไว้ให้น่าสนใจเช่นนี้ แต่ก็ยังยากที่เราจะสามารถศึกษาอี้จิงได้อยู่ดี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้แม้แต่วัตถุประสงค์ของคัมภีร์นี้ และก็ยังไม่มีใครตีความได้อย่างถูกต้องจริงๆซะที(ถือว่าผมหมายถึงในเมืองไทย นะครับ)
ส่วนคนที่บอกว่ารู้อี้จิง มันก็แค่อ่านหนังสือพยากรณ์ที่ไหนไม่รู้นั่นแหละครับ ส่วนใหญ่แล้วแทบจะไม่เคยอ่านตัวคัมภีร์อี้จิงจริงๆซะด้วยซ้ำ!!!