อย่างที่ทราบกันดี ว่าในแต่ละฉักลักษณ์หรือกว้าในคัมภีร์โจวอี้หรือที่รู้จักกันในชื่อคัมภีร์อี้จิงนั้น ประกอบขึ้นมาจากลายลักษณ์หรือเหยาทั้งสิ้น 6 ลาย ซึ่งในความจริงแล้ว การกำหนดความหมายของลายลักษณ์ในคัมภีร์โจวอี้นั้น ได้มีการกำหนดความหมายเป็นลำดับเดินหน้าจากก่อนไปหลังไว้อีกด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือมีลำดับตามเวลา (Timeline) ซึ่งลำดับที่ว่านี้จะปรากฏในฉักลักษณ์เป็นลำดับแบบ “จากล่างขึ้นบน”
ตัวอย่างวิธีพิจารณาลำดับความหมายในฉักลักษณ์ที่ง่ายที่สุดนั้น มักจะพิจารณาจากฉักลักษณ์หรือกว้าที่ 1 เฉียน พลังสร้างสรรค์ เนื่องจากฉักลักษณ์ที่ 1 นั้นคือฉักลักษณ์หยางบริสุทธิ์ ซึ่งแต่ละลายลักษณ์ประกอบไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนไหว กระทำการ เดินหน้า ของหยาง โดยไม่มีพลังของยิน (หยิน ที่จริงเสียงจีนกลางออกเสียงว่ายิน) มาเหนี่ยวรั้งไว้ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะนำมาพิจารณารูปแบบของลำดับการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของลายลักษณ์มากที่สุด ซึ่งในฉักลักษณ์ที่ 1 เฉียน นั้น มีลำดับความหมายของลายลักษณ์ดังนี้
ฉักลักษณ์ที่ 1 พลังสร้างสรรค์ |
初九: 潛龍勿用
ลายลักษณ์แรกหยาง: มังกรซ่อนกาย ไม่พึงกระทำ
九二: 見龍在田 利見大人
ลายลักษณ์สองหยาง: มังกรปรากฎในที่นา คุณประโยชน์เกิดจากการพบมหาบุรุษ
九三: 君子終日乾乾 夕惕若厲 無咎
ลายลักษณ์สามหยาง: สัตบุรุษทุ่มเทความพยายามของเขาทั้งวัน แม้ยามเย็นย่ำยังระวังอย่างเคร่งครัด ไร้ข้อผิดพลาด
九四: 或躍在淵 無咎
ลายลักษณ์สี่หยาง: ฤาประเดี๋ยวโผประเดี๋ยวกลับสู่ห้วงลึก ไร้ข้อผิดพลาด
九五:飛龍在天 利見大人
ลายลักษณ์ห้าหยาง: มังกรเหินหาวสู่นภา สัมฤทธิ์ผลจากการพบมหาบุรุษ
上九: 亢龍有悔
ลายลักษณ์บนหยาง: มังกรผยองได้สำนึกเสียใจ
***จากข้างต้น แม้การเขียนจะเรียงลำดับตามการอ่านปกติคือจากบนลงล่าง แต่ลำดับในฉักลักษณ์หรือกว้าจะเป็นจากล่างขึ้นบนครับ
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหมายของลายลักษณ์ข้างต้นตามลำดับแล้ว หากนำคำว่ามังกรมาแทนความหมายของผู้ที่มีเจตจำนงของการกระทำการหรือทะยานไปข้างหน้าอันเป็นพลังงานของหยางแล้ว จะพบว่าแต่ละลายลักษณ์มีความหมายที่ต่อเนื่องกันเป็นลำดับจากล่างขึ้นบน ได้แก่
ลายลักษณ์แรกหยาง ผู้ที่จะทะยานไปข้างหน้า (ข้างบน) ยังเปรียบเป็นดั่งทารกแรกเกิด แม้มีพรสวรรค์แต่ก็ยังไม่เติบโตพอจะใช้งานได้
ลายลักษณ์สองหยาง ผู้ที่จะทะยานไปข้างหน้า (ข้างบน) เริ่มเติบโตและพร้อมที่จะเรียนรู้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรพบพานผู้ใหญ่เพื่อขอรับการศึกษา
ลายลักษณ์สามหยาง ผู้ที่จะทะยานไปข้างหน้า (ข้างบน) เริ่มเรียนรู้ ทุ่มเทความพยายาม สั่งสมกำลัง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกระทำการในอนาคต โดยไม่มีข้อผิดพลาด
ลายลักษณ์สี่หยาง ผู้ที่ทะยานไปข้างหน้า (ข้างบน) เริ่มที่จะลงมือกระทำการหลังจากที่สั่งสมพื้นฐานมาอย่างเพียงพอแล้ว ในขั้นนี้จึงต้องผ่านการลงมือกระทำ ลองผิดลองถูก บางครั้งสำเร็จ บางครั้งล้มเหลว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นตามปกติ ไม่ใช่ข้อผิดพลาด
ลายลักษณ์ห้าหยาง ผู้ที่ทะยานไปข้างหน้า (ข้างบน) ประสบความสำเร็จหลังจากการรักษาพลังงานหยางซึ่งเป็นพลังงานในการทะยานไปข้างหน้าไว้อย่างไม่หยุดหย่อน ลงมือกระทำการอย่างไม่ท้อถอย ในขั้นนี้เมื่อประสบความสำเร็จแล้วจึงต้องหาคนมาช่วยกิจการเพื่อรักษาตำแหน่งของความสำเร็จไว้ให้ยืนนาน เปรียบเหมือนกษัตริย์ที่จะต้องมีขุนนางดีไว้ช่วยบริหารราชการนั่นเอง
ลายลักษณ์บนหยาง ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งพลิกผัน ตามคำจีนที่ว่า “เรื่องถึงที่สุดย่อมเปลี่ยนพลิก” ยินเปลี่ยนกลับเป็นหยาง หยางเปลี่ยนกลับเป็นยิน ถือเป็น Timeline หลังจากที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่กลับยังคงยึดถือพลังหยางไว้อย่างสุดโต่งโดยไม่ปล่อยวาง ประสบความสำเร็จแล้วกลับไม่รู้จักหยุดยั้งหาความพอดี เหมือนกษัตริย์ที่แสวงหาอำนาจหรือขยายอาณาเขตประเทศอย่างไม่รู้จักพอ ถึงที่สุดย่อมประสบกับหายนะ พบกับความเสียใจ
จากทั้งหมดนี้จะเป็นว่า ลำดับของลายลักษณ์นั้น มีการกำหนดความหมายตามลำดับไปข้างหน้า แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาขึ้นของสถานการณ์ ซึ่งในฉักลักษณ์อื่นๆ ทุกๆ ฉักลักษณ์ ต่างก็มีลำดับความหมายเช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ไปตามลายลักษณ์ยินและหยางที่แตกต่างกัน แต่ในแง่ของลำดับลายลักษณ์แล้ว จะถือว่าเหมือนกันไม่แตกต่าง คือมีลำดับ Timeline ที่เติบโตไปข้างหน้านั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้หากผู้ศึกษามีความเข้าใจ ก็จะสามารถทำให้ตีความความหมายของแต่ละลายลักษณ์ในคัมภีร์โจวอี้ได้ดีขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แต่ละลายลักษณ์ต้องการอธิบายได้ดีขึ้นอย่างมาก