ปีหลู่ซีกงที่ 25 กษัตริย์โจวเซียงหวังแห่งราชวงค์โจวถูกชนเผ่าตี๋ตีพ่าย หลบหนีเข้าสู่รัฐเจิ้ง ขุนนางแห่งรัฐจิ้นนามหูเหยี่ยนเจี้ยนได้แนะนำให้จิ้นเหวินกง (เจ้านครรัฐจิ้น โดยคำว่า กง เป็นบรรดาศักดิ์ ถือเป็นบรรดาศักดิ์ระดับใหญ่ที่สุดรองจากกษัตริย์หรือโอรสสวรรค์) เดินทางไปเข้าเฝ้าโจวเซียงหวัง แต่จิ้นเหวินกงไม่กล้าไป จึงได้ทำการเสี่ยงทายกระดองเต่า และได้ลางที่ดี แต่เหวินกงยังไม่วางใจ จึงให้คนเสี่ยงทายอีกครั้งด้วยไม้ติ้ว ได้กว้า “มีมาก” เปลี่ยนเป็น “ห่างเหิน” (เส้นเคลื่อนไหวคือเส้นที่ 3)
กว้าที่ทำนายได้ มีมาก เปลี่ยนเป็น ห่างเหิน |
ไท่สื่อ (ขุนนางผู้ดูแลงานด้านการทำนาย และจดบันทึกปฏิทิน) แห่งรัฐจิ้นได้พิจารณากว้าแล้ว กล่าวทำนายว่า “กว้านี้เป็นกว้าที่ดีมาก กว้ามีมากเส้นหยางที่สามกล่าวว่า ‘กงไปงานเลี้ยงเชิญของโอรสสวรรค์ (公用亨于天子)’ ความหมายคือ ‘เจ้านครรัฐตำแหน่งกงได้รับการต้อนรับจากโอรสสวรรค์’ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งเส้น เส้นที่สามหมายถึงกง (เส้นที่สาม ปกติจะหมายถึงขุนนางผู้ดูแลท้องถิ่นและเขตแคว้น หรือรัฐต่างๆ เส้นที่สี่จะหมายถึงขุนนางใกล้ชิดกษัตริย์ที่ดูแลส่วนกลาง ส่วนเส้นที่ห้าหมายถึงกษัตริย์หรือโอรสสวรรค์ – ผู้แปล) เส้นหยางอยู่ในตำแหน่งหยางถือว่าถูกต้อง กว้ามีมากนั้นมีตรีลักษณ์ล่างเป็นเฉียน(ฟ้า) เส้นที่สามเคลื่อนไหวเปลี่ยนเป็นตุ้ย(บึง) ตุ้ยหมายถึงความก้าวหน้า จึงทำนายได้ว่า ‘เรื่องมีความเหมาะสมและเจริญก้าวหน้า ได้รับการเลี้ยงรับรองจากโอรสสวรรค์’ ทำให้สามารถเอาชนะชนเผ่าตี๋ และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองของโจวเซียงหวัง นี่คือกว้ามหามงคล นอกจากนี้ กว้ามีมากเปลี่ยนเป็นกว้าห่างเหิน ตรีลักษณ์ล่างเฉียนเปลี่ยนเป็นตุ้ย ตรีลักษณ์บนคือหลี(ไฟ)ไม่เปลี่ยนแปลง เฉียนคือฟ้า ตุ้ยคือบึง หลีคือพระอาทิตย์ รูปลักษณ์คือพระอาทิตย์อยู่กลางฟ้า สาดส่องแสงยังบึงใหญ่ กว้ามีมากบนหลีล่างเฉียน เฉียนคือราชันย์ คือผู้อยู่สูง หลีคือขุนนาง คือผู้อยู่ต่ำกว่า แต่เฉียนซึ่งสูงส่งนี้กลับอยู่ล่างหลีซึ่งต่ำต้อย แสดงถึงโอรสสวรรค์กลับต้องรับรองเลี้ยงดูขุนนาง ทายว่า ‘โอรสสวรรค์ย่อมยินดีปรีดา และยอมลดตัวลงต้อนรับขุนนาง’ กว้ามีมากคือโอรสสวรรค์สามารถครอบครองใต้ฟ้า กว้าห่างเหินหมายถึงโอรสสวรรค์ต้องออกจากราชวัง แม้ตอนนี้เปลี่ยนเป็นกว้าห่างเหิน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับเป็นกว้ามีมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำนายว่า ‘แม้ตอนนี้โอรสสวรรค์จะต้องออกราชวัง (หลบหนี) แต่สุดท้ายก็ย่อมต้องได้กลับไป’ ”
รูปปั้นจิ้นเหวินกง |
จิ้นเหวินกงได้ยินดังนั้น ก็เดินทางออกไปพบกับโจวเซียงหวัง ภายหลัง จิ้นเหวินกงสามารถยกทัพเอาชนะชนเผ่าตี๋ นำความสงบสู่ราชวงค์โจว ช่วยเหลือโจวเซียงหวังคืนตำแหน่ง ได้รับยกย่องมอบนามเป็น “อ๋องผู้สูงศักดิ์”
จากผู้แปล : กว้าหรือฉักลักษณ์ที่ได้นี้ มีเส้นเคลื่อนไหวคือเส้นที่ 3 ซึ่งความหมายของเส้นที่สามนั้นก็ตรงกับสถานการณ์มาก เนื่องจากตัวจิ้นเหวินกงก็เป็นเจ้านครรัฐในตำแหน่งบรรดาศักดิ์กง พอดี และเรื่องที่ทำนายก็คือการเดินทางไปช่วยกษัตริย์หรือโอรสสวรรค์ ดังนั้นฉักลักษณ์หรือกว้าที่ได้นี้จึงถือว่ามีความสอดคล้องกับเรื่องที่ถามอย่างน่าอัศจรรย์