ในการเสี่ยงทายเพื่อทำนายด้วยคัมภีร์โจวอี้หรืออี้จิงนั้น ดั้งเดิมประกอบด้วยวิธีอยู่สองวิธีคือ ใช้ไม้ติ้ว กับใช้เหรียญ ซึ่งทั้งสองวิธีดั้งเดิมนั้นล้วนแต่ให้ความหมายที่หลากหลายที่สุด เนื่องจากสามารถมีได้ทั้งฉักลักษณ์ต้น และฉักลักษณ์เปลี่ยน โดยที่มีเส้นเคลื่อนไหวได้หลากหลาย คือตั้งแต่ไม่มีเส้นเคลื่อนไหวเลย จนไปถึงมีเส้นเคลื่อนไหวมากสุดถึงหกเส้น ซึ่งทำให้มักจะมีคนคิดวิธีเสี่ยงทายแบบประยุกต์ขึ้นมาใช้แทน เช่น การใช้ไม้ติ้วแบบประยุกต์ ซึ่งจะทำให้ได้เส้นเคลื่อนไหวเพียงเส้นเดียว ซึ่งง่ายมากเพราะเราแค่อ่านความหมายของเส้นเคลื่อนไหวนั้นๆ ก็ได้แล้ว และตีความเพิ่มเติมจากฉักลักษณ์เท่านั้น หรือการใช้ไพ่เขียนรูป ซึ่งทำให้ได้แต่ฉักลักษณ์ต้นทั้ง 64 เท่านั้น แต่ขาดความหมายของลายลักษณ์ซึ่งได้จากเส้นเคลื่อนไหวทั้ง 384 เส้น เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้มักจะง่าย แต่ก็เป็นการจำกัด “ความเปลี่ยนแปลง” ของอี้จิงไปเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่า วิธีเสี่ยงทายแบบประยุกต์จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
แต่การที่วิธีดั้งเดิมนั้นให้ความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ก็มีข้อเสียที่ทำให้ผู้ทำนายยากจะอ่านความหมาย หากยึดตามวิธีที่เรารู้ทั่วไปซึ่งเขียนอยู่ตามหนังสือทั่วไปตามท้องตลาด ก็อาจจะต้องอ่านความหมายของฉักลักษณ์ต้น ความหมายของลายลักษณ์ทุกเส้น และอ่านความหมายของฉักลักษณ์เปลี่ยนอีก ซึ่งหากมีเส้นเคลื่อนไหวหลายเส้น เราก็จำต้องอ่านหลายลายลักษณ์ ซึ่งบางครั้งลายลักษณ์แต่ละลายอาจจะให้ความหมายที่แตกต่าง บางลายลักษณ์บอกว่าดี แต่บางลายลักษณ์กลับบอกว่าแย่ อย่างนี้เราควรยึดถือลายลักษณ์ใดเป็นคำแนะนำที่ถูกต้อง?
ปราชญ์จูซี |
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปราชญ์แห่งลัทธิหยู (ขงจื้อ) ในสมัยราชวงค์ซ่งนาม จูซี จึงมีการกำหนดวิธีอ่านความหมายของฉักลักษณ์ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ทำนายสามารถเลือกความหมายที่ต้องการขึ้นมาอ่านเพียงหนึ่งเดียว ทำให้สามารถตัดความสับสนไป โดยไม่ต้องประยุกต์วิธีเสี่ยงทายซึ่งอาจจะเป็นการสร้างข้อจำกัดต่อผลการทำนายที่ได้แต่อย่างใด ซึ่งวิธีของจูซีนี้ก็ได้รับการยอมรับ และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน(เพียงแต่เป็นที่รู้จักกันน้อย) ซึ่งมีขั้นตอนในการอ่านความหมายดังนี้
ขั้นตอนการอ่านฉักลักษณ์ที่ได้จากการเสี่ยงทายแบบดั้งเดิม
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้แค่ฉักลักษณ์ต้นโดยไม่มีเส้นเคลื่อนไหว ให้อ่านความหมายจากถ้อยความของฉักลักษณ์ (กว้าสือ) และภาพลักษณ์ (กว้าเซี่ยง – เป็นส่วนเพิ่มเติมโดยขงจื้อ) ของฉักลักษณ์ต้น
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวหนึ่งเส้น ให้อ่านความหมายจากลายลักษณ์ (เหยาสือ) ของเส้นเคลื่อนไหวนั้นๆ และพิจารณาถ้อยความของฉักลักษณ์ต้นประกอบ
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวสองเส้น ให้อ่านความหมายจากลายลักษณ์ (เหยาสือ) ของทั้งสองเส้น โดยให้ความสำคัญกับเส้นเคลื่อนไหวเส้นบนเป็นหลัก
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวสามเส้น ให้อ่านความหมายจากถ้อยความ (กว้าสือ) และภาพลักษณ์ (กว้าเซี่ยง) ของฉักลักษณ์ต้น และฉักลักษณ์เปลี่ยนประกอบกัน โดยฉักลักษณ์ต้นเป็นเหตุ ฉักลักษณ์เปลี่ยนเป็นผล
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวสี่เส้น ให้อ่านความหมายจากลายลักษณ์ของเส้นที่ไม่เคลื่อนไหวจากฉักลักษณ์เปลี่ยน โดยเน้นที่ลายลักษณ์ที่อยู่ในฉักลักษณ์ล่างเป็นหลัก
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวห้าเส้น ให้อ่านความหมายจากลายลักษณ์ของเส้นที่ไม่เคลื่อนไหวจากฉักลักษณ์เปลี่ยน
- หากเสี่ยงทายออกมาแล้วได้ฉักลักษณ์ต้นพร้อมเส้นเคลื่อนไหวทั้งหมดหกเส้น หากเป็นฉักลักษณ์เฉียน-พลังสร้างสรรค์ และ คุน-พลังตอบสนอง ให้อ่านความหมายจากส่วนของ “ประโยชน์แห่งหยาง” และ “ประโยชน์แห่งยิน” แต่หากเป็นฉักลักษณ์อื่นๆ ก็ให้อ่านความหมายจากถ้อยความ (กว้าสือ) และภาพลักษณ์ (กว้าเซี่ยง) ของฉักลักษณ์เปลี่ยน
เป็นไงครับ เท่านี้เราก็สามารถอ่านความหมายของฉักลักษณ์ที่เราเสี่ยงทายขึ้นมาได้ง่ายขึ้นแล้ว ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างการทำนายดูนะครับ
ตัวอย่าง เสี่ยงทายได้ฉักลักษณ์ที่ 2 พลังตอบสนอง (คุน) ได้เส้นเคลื่อนไหวทั้งหมด 5 เส้น เปลี่ยนเป็นฉักลักษณ์ที่ 14 มีมาก (ต้าโหย่ว) ตามรูปล่าง
ฉักลักษณ์ที่ 2 เปลี่ยนเป็นฉักลักษณ์ที่ 14 |
ซึ่งจากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าหากเราอ่านความหมายทั้งหมด เราจะต้องอ่านความหมายของทั้ง ถ้อยความและภาพลักษณ์ในฉักลักษณ์ต้น ความหมายของลายลักษณ์ทั้งห้าเส้น และยังต้องอ่านถ้อยความของฉักลักษณ์เปลี่ยน ซึ่งจะทำให้สับสนมาก โดยเฉพาะในลายลักษณ์ต่างๆ ยังมีความหมายที่แตกต่างกันทั้งดีและร้าย ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกันอีกด้วย (โดยเฉพาะลายลักษณ์บนสุด จะขัดแย้งกับขั้นตอนดำเนินการในลายลักษณ์อื่นๆ เนื่องจากลายลักษณ์บนสุดเป็นลายลักษณ์ที่เปลี่ยนพลิก)
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราอาศัยวิธีตีความตามวิธีที่เราอธิบายกันมาข้างต้น จะพบว่าการที่มีเส้นเคลื่อนไหวมากถึง 5 เส้น นั้น เราสามารถอ่านเพียงความหมายของลายลักษณ์ของเส้นที่ไม่เคลื่อนไหวจากฉักลักษณ์เปลี่ยนเท่านั้น ซึ่งหากเราพิจารณาจากฉักลักษณ์ต้นเราจะเห็นว่าเส้นที่ไม่เคลื่อนไหวนั้นก็คือเส้นที่ห้า เราก็อ่านความหมายของเส้นนี้จากฉักลักษณ์เปลี่ยนหรือฉักลักษณ์ที่ 14 มีมาก เราก็จะได้ลายลักษณ์ที่ห้าว่า “ลายลักษณ์ห้ายิน: เขาคบหาอย่างสัตย์ซื่อจริงใจ อย่างเลื่อมใส มงคล” ซึ่งก็สามารถนำลายลักษณ์นี้ไปตีความการทำนายตามเรื่องที่เรากำหนดไว้ได้แล้วครับ
หวังว่าวิธีนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะครับ