ช่วงปลายยุคชุนชิว (ช่วงปลายราชวงค์โจว ประเทศแตกออกและปกครองโดยรัฐต่างๆ อย่างอิสระ) หลังการล่มสลายของรัฐปี้ ลูกหลานของรัฐปี้นาม ปี้ว่าน ได้เร่ร่อนไปถึงรัฐจิ้น หลังการขึ้นครองตำแหน่งอ๋องเจ้านครรัฐของ จิ้นเซี่ยนกง รัฐจิ้นนับวันก็ยิ่งเข้มแข็ง แต่ปี้ว่านนั้นควรจะเข้ากับรัฐจิ้นหรือไม่นั้นก็ยังเป็นที่ลังเลสงสัยอยู่ จึงได้เสี่ยงทายกว้าขึ้นมาดู หวังว่าจะได้ใช้กว้ามาช่วยตัดสินใจ
ฉักลักษณ์ทำนายปี้ว่าน |
หลังเสี่ยงทาย ได้ฉักลักษณ์ที่ 3 จุน-ปฐมวิบาก เปลี่ยนเป็น ฉักลักษณ์ที่ 8 ปี่-สมัครสมาน ซินเลี่ยว (ชื่อของผู้ที่ช่วยปี้ว่านเสี่ยงทาย) ได้ตีความฉักลักษณ์และกล่าวว่า “ฉักลักษณ์ปฐมวิบากคืออันตรายและความยากลำบาก ยากฝ่าเข้าไป จึงทำให้มั่นคง ส่วนฉักลักษณ์สมัครสมานคือใกล้ชิด รวมเข้าทำให้ไร้ช่องว่าง นี่จึงแสดงถึงผู้ติดตาม ลักษณะของฉักลักษณ์เช่นนี้ช่างเป็นมงคลนัก ลูกหลานรุ่นหลังจักต้องเจริญรุ่งเืรืองแน่นอน และการที่ฉักลักษณ์ปฐมวิบากมีเส้นแรกเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สามารถวิเคราะห์ความหมายออกมาได้ 6 ข้อ: ตรีลักษณ์ใน(ตรีลักษณ์ล่าง) จากตรีลักษณ์เจิ้น(ฟ้าร้อง) เปลี่ยนเป็นตรีลักษณ์คุน(ดิน) เจิ้นคือรถรา(รถม้าศึก) คุนคือม้า แสดงถึงม้าที่กำลังลากรถศึก; เจิ้นคือเท้า คุนคือดิน แสดงถึงสองเท้าที่ยืนเหนือพื้นดิน; เจิ้นคือชายวัยผู้ใหญ่ แสดงถึงพี่น้องที่ค่อยๆเติบโตขึ้น; คุนคือแม่ แสดงถึงแม่ที่คอยช่วยเหลือฟูมฟัก; คุนคือฝูงชน แสดงถึงทุกคนต่างก็ยอมจำนนคล้อยตาม ซึ่งทั้งหมด 6 ข้อนี้ จักไม่เปลี่ยนแปลง สามารถคำนวณออกมาได้ว่า: มีรถมีม้า มิใช่ชนชั้นสามัญ; สองเท้าสามารถยืนหยัด มีลูกชายคนโตสืบทอดความสำเร็จ สามารถหมายถึงว่ามีดินแดนปกครองเป็นของตน; มารดาแห่งแคว้นฟูมฟักดูแล ฝูงชนคล้อยตาม แสดงให้เห็นถึงการสามารถมีกำลังทหาร สามารถเคลื่อนทัพ จักได้เป็นอ๋องครองแว่นแคว้นหนึ่ง นอกจากนี้ ฉักลักษณ์สมัครสมานยังหมายถึงการรวมเข้ากัน ตามเข้ามา รวมทั้งตรีลักษณ์ใน(ตรีลักษณ์ล่าง) คุน คือความสงบปลอดภัย ผู้คนล้วนเข้าหา; ฉักลักษณ์ปฐมวิบากนั้นอันตรายและลำบาก มั่นคง ตรีลักษณ์ในของฉักลักษณ์นี้คือเจิ้นแสดงถึงอิทธิพล ตัดสินเป็นตายผู้คนได้ จากการวิเคราะห์ทำให้รู้ว่า รูปลักษณ์ของฉักลักษณ์นี้คือรวมเข้าและมั่นคงแข็งแกร่ง สงบปลอดภัยและทรงอิทธิพลอำนาจ ในอีกทางหนึ่งคือสามารถสร้างความสงบและยังสามารถสร้างอำนาจ นี่คือรูปฉักลักษณ์ของผู้ที่จะได้เป็นกงโหว (เจ้านครรัฐผู้ปกครองรัฐของตน) ลูกหลานของกงโหวอยู่ในรัฐจิ้นย่อมต้องเจริญรุ่งเรือง
ปี้ว่านหลังจากได้ฟังคำทำนายดังนั้น จึงได้นำครอบครัวเข้าลี้ภัยในรัฐจิ้น ภายหลังก็เป็นจริงดังที่ซินเลี่ยวกล่าวไว้ จากผลงานด้านการทหาร จิ้นเซี่ยนกงได้มอบที่ดินบริเวณเว่ยให้แก่ปี้ว่าน หลังจากนั้น ปี้ว่านได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ตระกูลเว่ย” ค่อยๆ สร้างอำนาจขึ้นในรัฐจิ้น
ผู้แปล – เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อน รวมทั้งการตีความที่พิศดาร จึงขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้
- ปี้ว่าน คือลูกหลานที่เหลือจากการล่มสลายของรัฐปี้ (ปี้กว๋อ) ต่อมาเมื่อเข้าสู่รัฐจิ้นได้เปลี่ยนใช้แซ่เว่ยตามชื่อของพื้นที่ที่ปกครอง เมื่อ 561 ปี ก่อนคริสตศักราช จิ้นเซี่ยนกงตั้งตนเองไม่ขึ้นกับราชวงค์โจว สร้างเสริมกองทัพ บุกตีแว่นแคว้นรัฐต่างๆ หลังจากผลงานทางทหารอันยิ่งใหญ่ของปี้ว่าน จิ้นเซี่ยงกงได้ออกประกาศคำสั่ง 3 ข้อ หนึ่งคือให้สามารถแต่งตั้งทายาทครองแคว้นโดยไม่ต้องยึดตามหลักเกณฑ์บุตรคนโต สองคือ ให้จ้าวซู่ไปปกครองพื้นที่แถบเกิ่ง ส่วนข้อสามก็คือ ให้ปี้ว่านปกครองแถบพื้นที่แถบเว่ย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการรุกรานจากรัฐข้างเคียง ซึ่งปี้ว่านหลังจากเปลี่ยนแซ่เป็นเว่ย ก็ได้ขยายฐานอำนาจขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในสามตระกูลใหญ่แห่งรัฐจิ้น และเมื่อ 475 ปี ก่อนคริสตศักราช ได้ร่วมแบ่งรัฐจิ้นออกเป็นสาม กลายเป็นรัฐหาน จ้าว และ เว่ย เกิดเป็นเหตุการณ์ “สามตระกูลแบ่งรัฐจิ้น” นี่หมายความว่า หากนับรวมกับช่วงเวลาก่อนที่ปี้ว่านจะได้สร้างผลงาน คำทำนายนี้ได้กินเวลาล่วงหน้ายาวนานถึงราว 200 ปี และในที่สุด ลูกหลานของปี้ว่านก็ได้กลับมาเป็นเจ้าครองนครรัฐอีกครั้ง ใครสนใจประวัติศาสตร์เพิ่มเติม สามารถอ่านจากภาษาอังกฤษได้ครับ http://www.chinaknowledge.de/History/Zhou/rulers-wei.html
- ที่จริงแล้ว ฉักลักษณ์ที่ 3 จุน-ปฐมวิบาก เป็นฉักลักษณ์ที่ไม่ดี จัดอยู่ในสี่สุดยอดฉักลักษณ์อัปมงคล อีกสามมี ฉักลักษณ์ที่ 29 ขั่น-ห้วงลึก(น้ำ) ฉักลักษณ์ที่ 39 เจี่ยน-ขัดขวาง ฉักลักษณ์ที่ 47 คุ่น-ยากลำบาก ซึ่งฉักลักษณ์ที่ 3 นี้ ถือว่าเป็นฉักลักษณ์ที่แย่น้อยที่สุดในทั้งสี่ฉักลักษณ์ คือเป็นฉักลักษณ์ที่แสดงถึงความยากลำบากในช่วงเริ่มต้น ฉักลักษณ์นี้ถูกเปรียบเหมือนกับต้นอ่อนที่เพิ่งงอกออกจากเมล็ด ซึ่งเมื่อเกิดออกมาต้องพบกับสภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคย ขณะเดียวกันถ้าอ่านคำว่า จุน ซึ่งเป็นชื่อของฉักลักษณ์นี้เป็นอีกหนึ่งเสียง จะอ่านว่า ถุน ซึ่งหมายถึงเก็บสะสม จะแสดงถึงการเก็บสะสมปัจจัยต่างให้พร้อมเพรียงเพื่อเตรียมเติบใหญ่เจริญงอกงาม เมื่อฉักลักษณ์นี้เปลี่ยนเป็นฉักลักษณ์ที่ 8 ปี่-สมัครสมาน มันจึงให้ภาพลักษณ์ของการสะสมกำลังและผู้คนแล้วทุกสิ่งต่างก็สมัครสมานสามัคคีและเข้าหากัน จึงกลายเป็นภาพลักษณ์อันเป็นมงคลแทน โบราณมีคำกล่าวว่า “จุนกู่ปี่รู่” หมายความว่าฉักลักษณ์ที่ 3 จุน นั้นมั่นคงแข็งแรง ส่วนฉักลักษณ์ที่ 8 ปี่ นั้นคือการเข้าหากัน เมื่อรวบรวมแล้วทุกอย่างเข้าหา ความมั่นคงแข็งแรงย่อมเกิดขึ้น นอกจากนี้ ในลายลักษณ์เส้นที่ 1 ซึ่งเคลื่อนไหวนั้น มีถ้อยความว่า “หยุดชะงัก ผลดีเกิดจากการเฝ้าอยู่ในความตั้งมั่น คุณประโยชน์เกิดจากการแต่งตั้งเจ้านครรัฐ – 磐桓 利居貞 利建侯” แสดงว่าสถานการณ์แม้จะต้องยอมอดทน แต่ที่สุดแล้วลางแห่งการได้ขึ้นเป็นเจ้านครรัฐก็ยังต้องบังเกิดขึ้น
- ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นการแสดงถึงความหมายที่แท้จริงของอี้จิง นั่นคือ อี้จิงไม่ใช่การดูดวง แต่เป็นการแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้แก่เรา จากเหตุการณ์นี้ อี้จิงไม่ได้บอกปี้ว่านเลยว่า เขากำลังดวงดีหรือมีเคราะห์ ไม่ได้บอกเลยว่าเขามีบุญเดิมแต่ชาติปางก่อนที่จะเป็นใหญ่หรือไม่ ไม่ได้บอกเลยว่าวันเดือนปีเกิดของปี้ว่านนั้นมีบุญวาสนาเพียงใด แต่ที่อี้จิงให้คือคำแนะนำซึ่งเป็นทางเลือกของเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ ปี้ว่านมีทางเลือกสองทางที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ 2 มิติซึ่งต่างกัน หนึ่งคือเข้ารัฐจิ้น อีกหนึ่งคือไปรัฐอื่น ซึ่งก็ต้องแตกย่อยทางเลือกไปอีกตามทางเลือกที่ปี้ว่านเลือกหลังจากนั้น แต่ในเหตุการณ์นี้ ปี้ว่านได้เลือกเข้ารัฐจิ้นด้วยคำแนะนำของอี้จิง ดังนั้นจึงเกิดประวัติศาสตร์ของรัฐเว่ยต่อมา ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ แน่นอนว่าปี้ว่านซึ่งมีความสามารถนั้น ทางเลือกส่วนใหญ่นั้นน่าจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน แต่หากปี้ว่านเลือกทางอื่น ก็ย่อมไม่มีรัฐเว่ยในวันนี้