ความหมายของฉักลักษณ์ทั้งสามในอี้จิงดอกเหมย
- 18/10/2016
- Posted by: Liang
- Category: อี้จิงดอกเหมย

ในบทนี้ขออธิบายความหมายของฉักลักษณ์ทั้งสามที่ใช้ในวิชาทำนายอี้จิงดอกเหมยครับ โดยเป็นบทความต่อเนื่องจากบทความเดิมเรื่อง “ฉักลักษณ์ทั้งสามในอี้จิงดอกเหมย” ครับ ซึ่งทั้งสามฉักลักษณ์นี้จะมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกัน โดยแต่ละฉักลักษณ์มีความหมายในเชิงการทำนายดังต่อไปนี้
![]() |
1. ฉักลักษณ์ต้น (เปิ่นกว้า) – คือกว้าหรือฉักลักษณ์ที่ได้ขึ้นมาจากการตั้งฉักลักษณ์ด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจะมีเส้นเคลื่อนไหวอยู่ด้วยหนึ่งเส้นเสมอ เป็นฉักลักษณ์ตั้งต้นที่ใช้พิจารณาสถานะการณ์ที่เราต้องการทำนาย โดยทั่วไปแล้วฉักลักษณ์ต้นนี้จะหมายถึงเหตุการณ์ลำดับแรก ดีไม่ดีให้ดูฉักลักษณ์นี้ก่อน ซึ่งในฉักลักษณ์ต้นนี้ยังแบ่งกว้าย่อยหรือตรีลักษณ์ออกอีก คือ
- ตรีลักษณ์เจ้าการ (ถิกว้า) – คือตรีลักษณ์ที่ไม่มีเส้นเคลื่อนไหวอยู่ เป็นตรีลักษณ์ประธาน โดยทั่วไปหมายถึงตัวผู้ทายเอง หมายถึงหลักของเรื่องที่ถาม เป็นกว้าหรือตรีลักษณ์หลักที่จะใช่เทียบปฏิกิริยากับกว้าอื่นๆ
- ตรีลักษณ์เหตุทาย (ย่งกว้า) – คือตรีลักษณ์ที่มีเส้นเคลื่อนไหวอยู่ เป็นตรีลักษณ์กรรม คือหมายถึงเหตุการณ์หรือเรื่องที่เราต้องการทำนาย โดยจะดูว่ากว้าหรือตรีลักษณ์เหตุทายนี้ส่งผลดีต่อตรีลักษณ์เจ้าการหรือไม่
2. ฉักลักษณ์เชื่อม– คือฉักลักษณ์หรือกว้าระหว่างกลาง หมายถึงเรื่องราวในช่วงกลาง หรือความหมายในเชิงสนับสนุนระหว่างฉักลักษณ์ต้นกับฉักลักษณ์เปลี่ยน ในฉักลักษณ์เชื่อมเองก็ยังมีสองกว้าหรือสองตรีลักษณ์ โดยตรีลักษณ์ที่อยู่ตำแหน่งบน-ล่างตำแหน่งเดียวกับตรีลักษณ์เจ้าการจะมีความใกล้ชิดกว่าหรือเกิดก่อน ส่วนตรีลักษณ์ที่อยู่ตำแหน่งบน-ล่างตำแหน่งเดียวกับตรีลักษณ์เหตุทายจะมีความใกล้ชิดหรือลำดับการเกิดทีหลัง
3. ฉักลักษณ์เปลี่ยน– คือฉักลักษณ์ที่มีกว้าย่อยหรือตรีลักษณ์ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตรีลักษณ์เหตุทาย เวลาพิจารณาจึงดูแค่ตรีลักษณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็พอ มันหมายถึงเรื่องราวที่เปลี่ยนมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเรื่องในตอนท้าย
เมื่อเรารู้ตำแหน่งครบแล้ว ที่เหลือก็คือการทำนายไปโดยดูปฏิกิริยาและความหมายของกว้าตามตำแหน่งต่างๆมาพิจารณาว่าเรื่องจะดีหรือร้าย หรือจะเป็นอย่างไรต่อไป…