ในบทนี้เราจะมาทำความรู้จักพื้นฐานการทำนายด้วยอี้จิงดอกเหมยกันก่อนนะครับ ขึ้นชื่อว่าอี้จิงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องใช้ก็คือกว้าหรือฉักลักษณ์แน่นอนครับ สิ่งสำคัญขั้นต้นคือต้องหาวิธีขึ้นฉักลักษณ์หรือตั้งฉักลักษณ์นั่นเองครับ ส่วนจะประสบพบเหตุอันใดถึงจะมาเป็นฉักลักษณ์ได้ หรือจะเสี่ยงทายด้วยวิธีไหน อันนี้ก็จะเป็นรายละเอียดของการตั้งฉักลักษณ์ครับ ซึ่งในอี้จิงดอกเหมยแล้วจะไม่ใช้การตั้งฉักลักษณ์ด้วยการเสี่ยงทาย เช่นโยนเหรียญหรือหยิบไม้ติ้ว แต่จะใช้ยามเวลา เหตุการณ์หรือสิ่งรอบๆตัวมาตั้งฉักลักษณ์เท่านั้นครับ ซึ่งรายละเอียดแต่ละวิธีจะมีค่อนข้างเยอะ ผมเลยขอข้ามมาที่เรื่องกว้าหรือฉักลักษณ์ที่เราจำเป็นต้องใช้กันก่อนนะครับ ซึ่งในอี้จิงดอกเหมยจะใช้อยู่ 3 ฉักลักษณ์ คือ ฉักลักษณ์ต้น ฉักลักษณ์เชื่อม และฉักลักษณ์เปลี่ยน(หรือเรียกว่า “ฉักลักษณ์ท้าย” ก็ได้ครับ)
ฉักลักษณ์ต้น ก็คือฉักลักษณ์ที่เราได้ขึ้นมาจากการตั้งฉักลักษณ์นั่นเองครับ ภาษาจีนเรียกว่าเปิ่นกว้า จะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ซึ่งในอี้จิงดอกเหมยเมื่อได้ฉักลักษณ์ต้นขึ้นมาจะได้ลายลักษณ์เคลื่อนไหว หรือเส้นเคลื่อนไหวขึ้นมาด้วยหนึ่งเส้นเสมอครับ
ส่วน ลายลักษณ์เคลื่อนไหว ก็คือหนึ่งในเส้นที่อยู่ในฉักลักษณ์ทั้งหกเส้นครับ ซึ่งเราหาขึ้นมาได้และกำหนดว่าเส้นนี้มีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงนั่นเองครับ ปกติเส้นที่เป็นเส้นเคลื่อนไหวที่เป็นเส้นหยางเราจะเขียนวงกลมหรือ o ไว้ด้านท้ายของเส้นนั้นๆ และถ้าเส้นเคลื่อนไหวเป็นเส้นหยินก็จะเขียนกากบาทหรือ x ไว้ด้านท้ายของเส้นนั้นๆครับ ยกตัวอย่างดังรูปนะครับ
ฉักลักษณ์ต้น |
ต่อเนื่องจากรูปนะครับ เราจะเห็นว่ามีเส้นเคลื่อนไหวที่มีวงกลม o อยู่ด้านหลังอยู่หนึ่งเส้น เส้นเคลื่อนไหวนี้จะอยู่ที่เส้นไหนก็ได้ครับในหกเส้น แล้วแต่ว่าเราจะหาได้เส้นไหน แต่ว่าจะมีอยู่หนึ่งเส้นเท่านั้นเสมอครับ
นอกจากนี้ ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดครับ ว่าในฉักลักษณ์นั้น จะประกอบด้วยตรีลักษณ์หรือกว้าแบบสามเส้นอยู่สองตรีลักษณ์ โดยสามเส้นบนหรือกว้าบนเราจะเรียกว่า “ตรีลักษณ์นอก” และสามเส้นล่างหรือกว้าล่างเราจะเรียกว่า “ตรีลักษณ์ใน”
ยังครับยังไม่สะใจ การที่ในฉักลักษณ์ประกอบด้วยสองตรีลักษณ์นี้เอง ทำให้ในอี้จิงดอกเหมยมีการพิจารณาบทบาทของทั้งสองตรีลักษณ์นี้ต่างกัน โดยตรีลักษณ์ที่มีเส้นเคลื่อนไหว(จะเป็นตรีลักษณ์ในหรือตรีลักษณ์นอกก็ได้ที่มีเส้นเคลื่อนไหว) เราจะเรียกว่าเป็น “ตรีลักษณ์เหตุทาย” หรือ “ตรีลักษณ์กรรม” (ภาษาจีนเรียกว่า ย่งกว้า) ซึ่งเป็นตรีลักษณ์สีแดงในรูปครับ ส่วนตรีลักษณ์ที่ไม่มีเส้นเคลื่อนไหวเราจะเรียกว่า “ตรีลักษณ์เจ้าการ” หรือ “ตรีลักษณ์ประธาน” ก็ได้ครับ(ภาษาจีนเรียกว่า ถิกว้า) โดยในรูปจะเป็นตรีลักษณ์สีน้ำเงิน
นี่คือรายละเอียดในฉักลักษณ์ต้น สรุปง่ายๆว่าเมื่อตั้งฉักลักษณ์ได้แล้วก็หาเส้นเคลื่อนไหว เส้นเคลื่อนไหวอยู่ตรีลักษณ์ไหนก็ให้ตรีลักษณ์นั้นเป็นตรีลักษณ์เหตุทาย ส่วนตรีลักษณ์ที่ไม่มีเส้นเคลื่อนไหว ก็ให้เป็นตรีลักษณ์เจ้าการ เช่นในรูปบนเส้นเคลื่อนไหวอยู่ตรีลักษณ์นอก ก็ให้ตรีลักษณ์นอกเป็นตรีลักษณ์เหตุทาย ส่วนตรีลักษณ์ในก็จะเป็นตรีลักษณ์เจ้าการ
ง่ายมั้ยครับ!!!
อย่าเพิ่งยิ้มครับ เพราะมันยังไม่หมด….
เมื่อได้ฉักลักษณ์ต้นแล้ว เราก็ต้องมาหาฉักลักษณ์เชื่อมกันครับ
ฉักลักษณ์เชื่อม ก็คือฉักลักษณ์ที่อยู่กลางเรื่อง ภาษาจีนเรียกว่าฮู่กว้า เชื่อมโยงระหว่างต้นเรื่องและปลายเรื่อง หรือเป็นส่วนเสริมเรื่องราว ซึ่งฉักลักษณ์เชื่อมนี้ไม่ต้องตั้งหรือสร้างขึ้นมา แต่ใช้วิธีหาจากฉักลักษณ์ต้นครับ โดยเมื่อเราได้ฉักลักษณ์ต้นแล้ว ให้เรานับเส้นในฉักลักษณ์ครับ โดยเส้นล่างสุดจะเป็นเส้นแรกหรือเส้นที่หนึ่ง ส่วนเส้นบนสุดจะเป็นเส้นสุดท้ายหรือเส้นที่หกครับ ให้เราเอาเส้นที่ 2-3-4 ของฉักลักษณ์ต้นมาเป็นตรีลักษณ์ในของฉักลักษณ์เชื่อม และให้เอาเส้น 3-4-5 ของฉักลักษณ์ต้นมาเป็นตรีลักษณ์นอกของฉักลักษณ์เชื่อมครับ
งงดิครับ ดูรูปดีกว่าครับ(ฉักลักษณ์เชื่อมจะเป็นสีดำครับ)
การตั้งฉักลักษณ์เชื่อม |
เป็นไงครับ พอเข้าใจมั้ยครับ?
เมื่อได้ฉักลักษณ์เชื่อมแล้ว เราก็ต้องมาหาฉักลักษณ์เปลี่ยนอีกทีครับ(ยังไม่จบ!!!)
โชคดีครับที่การหาฉักลักษณ์เปลี่ยนนั้นง่ายมากๆครับ คือเราแค่เอาฉักลักษณ์ต้นมาทำการเปลี่ยนเส้นเคลื่อนไหวครับ ตามหลักที่ว่าหยินหยางเมื่อเคลื่อนไหวก็ต้องเปลี่ยนเป็นคู่ตรงกันข้ามครับ โดยถ้าเส้นเคลื่อนไหวเป็นเส้นหยางหรือเส้นเต็ม ก็ให้เปลี่ยนมันเป็นเส้นหยินหรือเส้นขาดซะ หรือถ้ามันเป็นเส้นหยินหรือเส้นขาดก็ให้เปลี่ยนมันเป้นเส้นหยางหรือเส้นเต็มซะ ก็เสร็จละครับ อ้อ ฉักลักษณ์เปลี่ยนภาษาจีนจะเรียกว่าเปี้ยนกว้านะครับ ซึ่งเราจะได้ดังรูปครับ (ฉักลักษณ์เปลี่ยนคือฉักลักษณ์ที่สีดำครับ)
การตั้งฉักลักษณ์เปลี่ยน |
แล้วเราก็ทำการเรียงฉักลักษณ์ทั้งสามตามลำดับครับ โดยให้ฉักลักษณ์เชื่อมอยู่ตรงกลางครับ ดังรูปเลยครับ
ฉักลักษณ์ทั้งสาม |
เอาล่ะครับ ถึงตอนนี้เราก็รู้จักกับฉักลักษณ์ที่ต้องใช้ในอี้จิงดอกเหมยกันแล้วนะครับ จะพบว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆ มีแค่ฉักลักษณ์ต้นกับเส้นเคลื่อนไหวเท่านั้นเองครับ ส่วนสองฉักลักษณ์ที่เหลือสามารถหาจากฉักลักษณ์ต้นได้เลยครับ
ส่วนจะหาฉักลักษณ์ต้นได้อย่างๆไรนั้น ต้องไปดูที่วิธีแต่ละวิธีในภายหลังล่ะครับ รวมทั้งความหมายของแต่ละฉักลักษณ์นั้นหมายถึงอะไรก็ค่อยจะมาต่อกันอีกทีครับผม