การตั้งฉักลักษณ์แบบก่อนสวรรค์ ตอน “การตั้งฉักลักษณ์ด้วยยามเวลา”
- 18/10/2016
- Posted by: Liang
- Category: อี้จิงดอกเหมย
ในบทนี้จะว่าด้วยการตั้งฉักลักษณ์ด้วยวิธีการจับยามเวลา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการตั้งฉักลักษณ์แบบก่อนสวรรค์ เนื่องจากเป็นการใช้ยามเวลามาคำนวณหาตัวเลข และนำตัวเลขที่ได้ไปแปลงเป็นตรีลักษณ์ตามลำดับในแผนภูมิอัฐลักษณ์ก่อนสวรรค์นั่นเอง
ทบทวนอีกนิดว่า การตั้งฉักลักษณ์แบบก่อนสวรรค์คือแบบวิธีที่ใช้ตัวเลขมาตั้งฉักลักษณ์ โดยเรียงลำดับเลขของตรีลักษณ์ตามลำดับของแผนภูมิก่อนสวรรค์ คือ
1-เฉียน/ฟ้า 2-ตุ้ย/ทะเลสาบ 3-หลี/อัคคี 4-เจิ้น/กัมปนาท 5-ซวิ่น/สายลม 6-ขั่น/น้ำ 7-เกิ้น/ขุนเขา 8-คุน/พสุธา
แม้ว่าวิธีก่อนสวรรค์มีหลากหลายวิธีในการได้มาซึ่งตัวเลข แต่วิธีที่นิยมและเป็นตัวแทนของการตั้งฉักลักษณ์แบบก่อนสวรรค์ ก็คือวิธีนับยามเวลานี่เอง
การจับยามเวลานั้น คือใช้วิธีวันเดือนปีและเวลาแบบจีน มากำหนดทำนายโดยมีหลักดังนี้
ปี คือใช้ตัวเลขตามลำดับ 12 นักษัตร 1-ชวด 2-ฉลู 3-ขาล 4-เถาะ….12-กุน
เดือน คือใช้เดือนแบบจีน 1-เดือนอ้าย 2-เดือนยี่ 3-เดือนสาม 4-เดือนสี่…. 12-เดือนสิบสอง
วัน คือใช้วันที่แบบจีน(ไม่ใช่วันแบบต้นฟ้ากิ่งดิน) โดย 1-วันที่หนึ่ง 2-วันที่สอง 3-วันที่สาม… 30-วันที่สามสิบ
เวลา คือยามเวลาแบบจีนโดย
1 – ยามจื่อ 23.00-24.59 น.
2 – ยามโฉ่ว 01.00-02.59 น.
3 – ยามหยิน 03.00-04.59 น.
4- ยามเหม่า 05.00-06.59 น.
5 – ยามเฉิน 07.00-08.59 น.
6 – ยามซื่อ 09.00-10.59 น.
7 – ยามอู่ 11.00-12.59 น.
8 – ยามเว่ย 13.00-14.59 น.
9 – ยามเซิน 15.00-16.59 น.
10 – ยามโหย่ว 17.00-18.59 น.
11 – ยามซวี 19.00-20.59 น.
12 – ยามไฮ่ 21.00-22.59 น.
รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องเวลาของจีน รบกวนลองอ่านบท “ระบบกาลของจีน” ดูได้นะครับ
การตั้งฉักลักษณ์ก็คือการหาตัวเลขเพื่อหาตรีลักษณ์ แล้วนำตรีลักษณ์มาจับคู่กันได้ฉักลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยกว้าแบบตรีลักษณ์สองตรีลักษณ์มารวมกัน โดยตรีลักษณ์ที่วางด้านบนคือตรีลักษณ์บนหรือเรียกว่าตรีลักษณ์นอก และตรีลักษณ์ที่วางด้านล่างคือตรีลักษณ์ล่างหรือเรียกว่าตรีลักษณ์ใน ซึ่งเรามีวิธีหาแต่ละตรีลักษณ์ดังนี้
ตรีลักษณ์บน ได้จากการนำเลขของ ปี+เดือน+วันที่ แล้วผลที่ได้หารด้วยแปด ได้เศษเป็นเลข 1-8 เศษที่ได้ก็คือเลขตรีลักษณ์บน
ตรีลักษณ์ล่าง ได้จากการนำเลข ปี+เดือน+วันที่+ยามเวลา แล้วผลที่ได้หารด้วยแปด ได้เศษเป็นเลข 1-8 เศษที่ได้ก็คือเลขตรีลักษณ์ล่าง
เมื่อได้ทั้งตรีลักษณ์บนและตรีลักษณ์ล่างแล้ว ต้องหาเส้นเคลื่อนไหวหรือต้งเหยา คือเส้นที่อยู่ในตรีลักษณ์ใดตรีลักษณ์หนึ่งซึ่งกำหนดขึ้นว่าเป็นเส้นที่มีการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นตัวเคลื่อนไหวในฉักลักษณ์นั่นเอง วิธีหาคือ นำเลข ปี+เดือน+วันที่+ยามเวลา แล้วผลที่ได้หารด้วยหก ได้เศษ 1-6 เศษที่ได้ก็คือเส้นเคลื่อนไหว โดยในฉักลักษณ์นั้นเส้นที่หนึ่งจะอยู่ล่างสุดและเส้นที่หกจะอยู่บนสุด
เมื่อได้เลขทั้งหมดนี้แล้ว เราจะสามารถหาฉักลักษณ์ต้นได้แล้ว จากนั้นค่อยนำเอาฉักลักษณ์ต้นนี้ไปหาฉักลักษณ์เชื่อมและฉักลักษณ์เปลี่ยนต่อไป
มาดูตัวอย่างกันสักนิดครับ
สมมติทายที่ ปีมะแม(8) เดือน 9 วันที่ 17 เวลา 16.00 น.
เริ่มจากการหา ฉักลักษณ์ต้น
ปีมะแม ได้ตัวเลขคือ 8
เดือนเก้า ได้ตัวเลขคือ 9
วันที่สิบเจ็ด ได้ตัวเลข 17
เวลา 16.00 น. คือยามเซิน ได้ตัวเลขเป็น 9
ตรีลักษณ์บนได้ 8+9+17 หาร 8 ได้ เศษ 2 ดังนั้นเลขตรีลักษณ์บนคือ 2 เมื่อเทียบตัวเลขกับลำดับตรีลักษณ์ในแผนภูมิก่อนสวรรค์แล้วได้เป็น ตรีลักษณ์ตุ้ย(ทะเลสาบ)
ตรีลักษณ์ล่างคือ เอายามเวลา 16.00 น. หรือยามเซิน เลข 9 มาบวกเข้าเป็น 8+9+17+9 หาร 8 เศษ 3 ดังนั้นเลขตรีลักษณ์ล่างคือ 3 เมื่อเทียบตัวเลขกับลำดับตรีลักษณ์ในแผนภูมิก่อนสวรรค์แล้วได้เป็น ตรีลักษณ์หลี(ไฟ)
เส้นเคลื่อนไหวคือ 8+9+17+9 หาร 6 เศษ 1 ดังนั้นเส้นเคลื่อนคือเส้นที่ 1 หรือเส้นล่างสุด จากนั้นค่อยหา ตรีลักษณ์เชื่อม และตรีลักษณ์เปลี่ยน
ฉักลักษณ์เชื่อม ก็คือนำเอาเส้นที่ 3 เส้นที่ 4 และเส้นที่ 5 ของฉักลักษณ์ต้น มาเป็นตรีลักษณ์บน และนำเอาเส้นที่ 2 เส้นที่ 3 และเส้นที่ 4 ของฉักลักษณ์ต้นมาเป็นตรีลักษณ์ล่าง
ซึ่งจากตัวอย่างจะได้ตรีลักษณ์บนเป็น “เฉียน” และตรีลักษณ์ล่างเป็น “ซวิ่น”
ฉักลักษณ์เปลี่ยน ก็คือ นำเอาเส้นเคลื่อนไหวของฉักลักษณ์ต้นมาเปลี่ยน โดยถ้าเส้นเดิมเป็นเส้นหยางหรือเส้นเต็มก็ให้เปลี่ยนเป็นเส้นหยินหรือเส้นขาด และถ้าเส้นเดิมเป็นเส้นหยินหรือเส้นขาดก็ให้ทำการเปลี่ยนเป็นเส้นหยางหรือเส้นเต็ม จะได้ตรีลักษณ์ที่เปลี่ยนแล้วเป็นตรีลักษณ์ “เกิ้น”
เท่านี้ก็จะได้ ฉักลักษณ์ต้น ฉักลักษณ์เชื่อม และฉักลักษณ์เปลี่ยน โดยครบถ้วน
จากตัวอย่างด้านบน เมื่อเราทำการหาฉักลักษณ์ออกมา จะได้ฉักลักษณ์ทั้งหมดดังรูปล่างครับ
ฉักลักษณ์ที่ได้จากตัวอย่าง |
บทนี้อาจจะงงสำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านเนื้อหาในบทก่อนๆมาก่อนนะครับ ดังนั้นถ้าท่านไม่เข้าใจก็ลองอ่านเนื้อหาบทก่อนๆจนเข้าใจเสียก่อนนะครับ