เสิน (神)
เสิน โดยทั่วไปหมายถึง เทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตวิญญาณ แต่คำว่าเสินในที่นี้ ดูเหมือนจะไม่สามารถอ้างอิงตามความหมายปกติได้ เนื่องจากมันไม่ได้หมายถึงเทพ (ยกเว้นในส่วนของ ลิ่วเสิน หรือเทพทั้งหก ซึ่งใช้คำว่าเสินในความหมายถึงเทพ) ดังนั้นผู้เขียนขอสรุปความว่า มันประมาณว่าเป็นตัวแทนของความหมายของลายลักษณ์หรือเส้นใดๆ ในฉักลักษณ์ละกันนะครับ (คำนี้ผู้เขียนหาคำแปลไม่ได้จริงๆ และคำนี้ยังถูกใช้ในหลายบริบทที่ต่างกัน ดังนั้นผู้เขียนเลยยังขอใช้คำทับศัพท์ไปเลยนะครับ)
ย่งเสิน (用神) – เสินของเหตุที่ทาย
เสิน ในวิชาิลิ่วเหยานั้น ไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว แต่ถูกกำหนดไปตามเรื่องที่ทาย โดยที่ย่งเสินจึงเป็นเสินตัวแรกที่ถูกหาและกำหนดขึ้น และเสินอื่นๆ จะถูกกำหนดขึ้นตามความสัมพันธ์อีกที ย่งเสินนั้นก็คือตำแหน่งของลายลักษณ์ที่ตรงกับเรื่องที่เราทำนาย ถือเป็นตัวแทนของเรื่องที่เราต้องทำนาย และตีความ โดยที่ย่งเสิน จะถูกหาได้ดังต่อไปนี้
- หาจากความสัมพันธ์ของญาติทั้งหก เช่น ถ้าเราทายเรื่องของพ่อแม่หรือผู้อวุโส (เช่น พ่อแม่ป่วย พ่อแม่หายตัวไป) ให้ใช้เส้นพ่อแม่เป็นย่งเสิน ทายเรื่องพี่น้องหรือเพื่อน ใช้เส้นพี่น้องเป็นย่งเสิน ทายเรื่องภรรยา ใช้เส้นภรรยา-ทรัพย์ เป็นย่งเสิน ทายเรื่องสามี ใช้เส้นอำมาตย์-ผี เป็นย่งเสิน ทายเรื่องลูกหลาน ใช้เส้นลูกหลานเป็นย่งเสิน
- หาจากความหมายของตำแหน่งญาติทั้งหก เช่น ถ้าทายเรื่องทรัยพ์สินเงินทอง เรื่องค้าเรื่องขาย เรื่องผลกำไร เรื่องหุ้น เรื่องอากาศแจ่มใส ใช้เส้น ภรรยา-ทรัพย์ เป็นย่งเสิน ทายเรื่องภัยพิบัติ อันตราย ทุกข์ภัย ลมและเมฆ ใช้เส้นอำมาตย์-ผี เป็นย่งเสิน ทายเรื่องหนังสือ เอกสาร บ้าน รถยนต์ ฝนตก ใช้เส้นพ่อแม่เป็นย่งเสิน เป็นต้น
- หาจากตำแหน่งภพ (ซื่อ) และสัมพัทธ์ (ยิ่ง) คือถ้าตัวเองทายชะตาทั่วไปของตัวเอง ใช้เส้นภพเป็นย่งเสิน ถ้าทายการเงินของตัวเอง ให้ใช้เส้นภรรยา-ทรัพย์ เป็นย่งเสิน แต่ใช้เส้นภพเป็นประธานด้วย ถ้าทายการแข่งขัน เช่น ทีมประเทศเราแข่งกับประเทศอื่น ให้ใช้เส้นซื่อเป็นย่งเสินแทนทีมฝ่ายประเทศเรา และใช้เส้นสัมพัทธ์เป็นย่งเสินแทนคู่แข่ง เป็นต้น
- หาย่งเสินจากตำแหน่งของเส้น เช่น เส้นแรก (ล่างสุด) หมายถึง สรรพสิ่ง เส้นที่สองหมายถึง ประชาชน เส้นที่สามหมายถึง ส่วนปกครองท้องถิ่น เส้นที่สี่คือ รัฐบาล เส้นที่ห้าหมายถึง กษัตริย์ เส้นที่หกหมายถึงสวรรค์ เป็นต้น
หยวนเสิน (原神) – เสินที่ให้กำเนิด จี้เสิน (忌神) – เสินที่ทำลาย และโฉวเสิน (仇神) – เสินแค้นเคือง
หยวนเสิน และจี้เสิน จะสามารถหาได้ก็ต่อเมื่อสามารถหาย่งเสิน หรือเสินของเหตุที่ทายได้ก่อน โดยหยวนเสินก็คือเสินที่มีธาตุที่ให้กำเนิดย่งเสิน เช่นถ้าทายเรื่องพ่อแม่ เส้นพ่อแม่เป็นย่งเสิน ถ้าเส้นพ่อแม่อยู่ในตำแหน่งธาตุไฟ เส้นอำมาตย์-ผี ธาตุไม้จะเป็นหยวนเสิน เนื่องจากธาตุไม้ให้กำเนิดธาตุไฟ ส่วนจี้เสินคือเสินที่ข่มย่งเสิน ถือเป็นตัวทำลายย่งเสิน เช่นถ้าทายเรื่องพ่อแม่ ธาตุไฟ เส้นลูกหลาน ธาตุน้ำ จะเป็นจี้เสิน เนื่องจากธาตุน้ำข่มธาตุไฟ
ตามหลักแล้ว ความสัมพันธ์ของแต่ละเสินในฉักลักษณ์นั้นจะตายตัว โดยเส้นลูกหลานคือหยวนเสินของเส้นภรรยา-ทรัพย์ เป็นจี้เสินของเส้นอำมาตย์-ผี เส้นภรรยา-ทรัพย์คือหยวนเสินของเส้นอำมาตย์-ผี เป็นจี้เสินของเส้นพ่อแม่ เส้นอำมาตย์-ผีคือหยวนเสินของเส้นพ่อแม่ เป็นจี้เสินของเส้นพี่น้อง เส้นพ่อแม่คือหยวนเสินของเส้นพี่น้อง เป็นจี้เสินของเส้นลูกหลาน และเส้นพี่น้องคือหยวนเสินของเส้นลูกหลาน เป็นจี้เสินของเส้นภรรยา-ทรัพย์ เช่นนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง
ส่วนโฉวเสินนั้น คือเสินที่เบียดเบียน แต่ไม่ทำลายย่งเสินตรงๆ โดยโฉวเสินคือเสินที่ข่มหยวนเสิน แต่ส่งเสริมจี้เสิน ทำลายเสินที่สร้างย่งเสิน แต่ส่งเสริมเสินที่ทำลายย่งเสิน
เฟยเสิน (飛神 หรือ 飞神) เสินเหินบิน และ ฝูเสิน (伏神) เสินหลบลี้
เฟยเสินและฝูเสิน คือเสินที่เกิดจากเมื่อไม่มีย่งเสินในฉักลักษณ์ (กว้า) ก็จำเป็นต้องหาย่งเสินที่หลบอยู่ ซึ่งย่งเสินที่หลบอยู่นั้นเรียกว่าฝูเสิน และตำแหน่งของเส้นที่ฝูเสินหลบอยู่นั้นเรียกว่าเฟยเสิน เช่นถ้าทายเรื่องพ่อแม่ แต่ในฉักลักษณ์กลับไม่มีเส้นพ่อแม่อยู่ ก็ต้องไปหาจากย่งเสินจากฉักลักษณ์ต้นวิหารแทน เช่น ทำนายเรื่องทรัพย์สิน แต่เสี่ยงทายได้ฉักลักษณ์ที่ 15 ถ่อมตน แต่ในฉักลักษณ์ที่ 15 ไม่มีเส้นภรรยา-ทรัพย์ เท่ากับว่าได้ฉักลักษณ์ที่ไม่มีย่งเสิน จึงต้องใช้วิธีหาว่า ในฉักลักษณ์ต้นวิหารนั้นมีย่งเสินอยู่ในตำแหน่งใด ซึ่งในที่นี้ฉักลักษณ์ต้นวิหารคือฉักลักษณ์ตุ้ย-บึง (ฉักลักษณ์ที่ 58) และตำแหน่งของเส้นภรรยา-ทรัพย์ อยู่ในตำแหน่งเส้นที่สอง ดังนั้นฝูเสินหรือย่งเสินที่หลบอยู่จึงอยู่ในตำแหน่งที่สอง ซึ่งหลบอยู่ใต้เสินอำมาตย์-ผี ของฉักลักษณ์ที่ 15 ดังนั้นเส้นอำมาตย์-ผี ที่อยู่ในตำแหน่งที่สองของฉักลักษณ์ที่เสี่ยงทายได้ (ฉักลักษณ์ที่ 15) จึงเป็นเฟยเสิน หรือเสินที่เหินบิ
ย่งเสินคู่
ย่งเสินคู่ หมายถึงในฉักลักษณ์หรือกว้ามีย่งเสินสองเส้น เช่น ทายเรื่องพ่อแม่ แต่ทั้งในตรีลักษณ์บนและตรีลักษณ์ล่างต่างก็มีเส้นพ่อแม่ เช่นนี้ให้ใช้เส้นที่มีกำลัง ไม่ตกตำแหน่งว่างหาย ไม่ถูกปะทะแตก ไม่ถูกทำร้าย มาเป็นย่งเสิน หากในสองเส้นมีเส้นหนึ่งเคลื่อนไหว อีกเส้นหนึ่งอยู่นิ่ง ให้เลือกใช้เส้นที่เคลื่อนไหวมาเป็นย่งเสิน
ทั้งหมดนี้ก็คือรายละเอียดที่ต้องกำหนดในวิชาลิ่วเหยา ซึ่งนับว่าเกือบครบถ้วนแล้ว จากนั้นผู้ทำการเสี่ยงทายจึงนำเอารายละเอียดของฉักลักษณ์ต่างๆ นี้ ไปใช้ในการตีความเพื่อการทำนายต่อไปครับ