บทความนี้เป็นบทความพิเศษจากกรณีศึกษาระดับชาติเรื่องเขาพระวิหารครับ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปีจากการที่ประเด็นเรื่องเขาพระวิหารถูกจุดขึ้นด้วยประเด็นทางการเมืองในบ้านเรา จากเดิมที่เขาพระวิหารได้ตกเป็นของกัมพูชาตามการตัดสินของศาลโลกตั้งแต่ พ.ศ.2505 และเราได้เสียสิทธิ์ในการต่อสู้คดีเนื่องจากเวลาผ่านมายาวนานถึง 50 ปีแล้ว ประเด็นนี้ก็ถูกจุดขึ้นมาเริ่มต้นจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยจะยกให้กัมพูชา และกลายเป็นประเด็นต่อเนื่องจนกระทั่งถึงขั้นทวงคืนตัวปราสาทเขาพระวิหารกลับมา โดยมีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้จุดประเด็นไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกเดิมและอ้างว่าเขาพระวิหารเป็นของไทย จนกลายเป็นหาลุกลามใหญ่โตจนมีการปะทะกันระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ได้นำพาเราไปถึงจุดเสี่ยงต่อการเสียดินแดนอีกครั้งเมื่อเรื่องนี้ถูกนำขึ้นศาลโลก และกัมพูชาเรียกร้องให้ตัดสินปัญหาในส่วนของข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรไปด้วย ซึ่งถ้าไทยแพ้คดีนี้อย่างเต็มรูปแบบนั่นหมายความว่าไทยจะต้องเสียดินแดนในส่วน 4.6 ตารางกิโลเมตรไปด้วย
ก่อนการตัดสินคดีนี้ ผู้เขียนจึงได้ลองเสี่ยงทายด้วยวิชาลิ่วเหยาเพื่อเป็นกรณีศึกษาใน Facebook ของเว็บเรา ว่าผลของการตัดสินคดีเขาพระวิหารเป็นอย่างไร ซึ่งแต่เดิมนั้นการตัดสินคดีนี้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์ แลนด์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยสู้คดีปราสาทพระวิหาร ได้มีการคาดการณ์ไว้ 4 แนวทาง โดย
แนวทางที่ 1 ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดี หรือมีอำนาจแต่ไม่มีเหตุที่จะต้องตีความคำพิพากษาเดิม (ยกคำร้องของกัมพูชา) ผลก็คือทั้งสองฝ่ายต้องกลับไปยังสถานะเดิมก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลโลก หากคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ถือว่าไทยไม่ได้ไม่เสีย
แนวทางที่ 2 ศาลชี้ว่าขอบเขตอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1:200,000 ซึ่งเป็นไปตามคำฟ้องของฝ่ายกัมพูชา หากพิพากษาเช่นนี้ เท่ากับว่าพื้นที่พิพาทโดยรอบปราสาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ตกเป็นของกัมพูชา
แนวทางที่ 3 ศาลให้ยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยเมื่อปี 2505 ที่ได้กำหนดอาณาบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารเอาไว้แล้ว กล่าวคือ ทางทิศเหนือที่ระยะ 20 เมตรจากบันไดนาคไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทางทิศตะวันตกที่ระยะ 100 เมตรจากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจรดขอบหน้าผา ทั้งได้สร้างป้ายแสดงเขตและล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้ ซึ่งหากคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับไทย
แนวทางที่ 4 ศาลไม่ตัดสินตามคำร้องของฝ่ายใด แต่ใช้วิธีอธิบายคำพิพากษาปี พ.ศ.2505 ว่าหมายความว่าอย่างไร แล้วให้ทั้ง 2 ประเทศ ให้ทั้งกัมพูชาและไทยไปเจรจาตกลงกันเองแบบทวิภาคี
ซึ่งผลตัดสินนั้นจะเป็นไปตามแนวทางใด หลังจากผู้เขียนเสี่ยงทายออกมา ได้ผลดังนี้ โดยผู้เขียนขอยกผลตีความเดิมมาลงทั้งหมดก่อน แล้วค่อยขยายความต่อไป
ผลการเสี่ยงทายลิ่วเหยา กรณีตัดสินเรื่องเขาพระวิหาร |
เรื่องการตัดสินกรณีเขาพระวิหาร
เสี่ยงทายวันที่ 8 พ.ย. 2556
ทายเรื่องคดี ใช้เส้นอำมาตย์เป็นย่งเสิน (เส้นล่างสุด) ใช้เส้นภพแทนฝ่ายเรา(เส้นบนสุด) เส้นสัมพัทธ์แทนฝ่ายเค้า(เส้นที่ 3)
เส้นอำมาตย์ถูกปะทะแตกที่เดือนครับ แสดงถึงการตัดสินจะไม่เกิดขึ้น จึงต้องหาวันที่การตัดสินจะเกิดขึ้นได้ในเดือนนี้ สมมติถ้าเราไม่รู้เลยว่าจะตัดสินวันไหน และดูตามกว้า ก็ต้องทายว่าเป็นวันที่เส้นอำมาตย์มีกำลังที่สุดโดยไม่ถูกปะทะแตก ซึ่งก็จะมีอยู่สองวัน หนึ่งคือวันที่ครองอำนาจแทนเส้นอำมาตย์ ซึ่งก็คือวันซื่อ อีกวันคือวันที่มาประสาน (เหอ) กับเส้นอำมาตย์ ซึ่งก็คือวันเซิน-ทอง แต่ว่าเนื่องจากวันซื่อมาถึงก่อน จึงต้องนับเอาวันซื่อเป็นวันตัดสิน และวันซื่อก็คือวันที่ 11 ครับ….เป๊ะ…
แต่เอาเถอะ เรื่องนั้นเรารู้กันอยู่แล้ว ถือว่าไม่นับ
กว้านี้หกปะทะเปลี่ยนเป็นหกประสาน ถือเป็นลางดี การแตกแยกจะกลับมารวมกันอีกครั้ง เส้นอำมาตย์เคลื่อนไหว เส้นเปลี่ยนเป็นหยินไม้หันกลับมาส่งเสริมซื่อไฟ แสดงถึงการตัดสินที่จะเกิดขึ้น และเส้นอำมาตย์เคลื่อนไหวไปส่งเสริมทั้งเส้นภพและเส้นสัมพัทธ์อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากทั้งสองเส้นเป็นธาตุดินทั้งคู่ แสดงให้เห็นชัดว่าผลการตัดสินน่าจะออกมาแบบ win-win ทั้งสองฝ่าย คือไม่มีใครเสียประโยชน์ ถ้าดูตำแหน่งกุ้ยเหรินหรือเทพอุปถัมป์ ก็พบว่าอยู่ในตำแหน่งของทั้งฝ่ายเราและฝ่ายกัมพูชาเลยด้วย เท่ากับว่าผลออกมาคู่คี่ก้ำกึ่งกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้นผลน่าจะออกมาโดยไม่มีฝ่ายใดเสียประโยชน์ การตัดสินจะเป็นไปโดยเห็นแก่ทั้งสองประเทศ และทั้งสองประเทศจะยุติความขัดแย้งนี้ลงได้โดยไม่มีการต่อสู้หรือความรุนแรงในภายหลังครับ
เอาล่ะครับ เรามาขยายความผลการเสี่ยงทายสักเล็กน้อยว่าควรเป็นไปตามแนวทางใด โดยจากแนวทางแรกนั้น น่าจะค่อนข้าง win-win ทั้งสองฝ่าย แต่น่าจะเป็นไปไม่ได้เนื่องจากจากการเสี่ยงทาย วันที่ 11 เป็นวันที่เส้นอำมาตย์ไม่ได้ถูกปะทะแตก และเป็นวันที่เส้นอำมาตย์มีกำลัง ดังนั้นการตัดสินต้องเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนแนวทางที่ 2 และ 3 นั้นก็ไม่ใช่อีก เพราะถือว่าไม่ win-win ทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการได้ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ดังนั้นผลที่น่าจะเป็นก็คือแนวทางที่ 4 คือใช้วิธีอธิบายคำพิพากษาปี พ.ศ.2505 ว่าหมายความว่าอย่างไร แล้วให้ทั้ง 2 ประเทศ ให้ทั้งกัมพูชาและไทยไปเจรจาตกลงกันเองแบบทวิภาคี ซึ่งตรงกับกว้าที่ทำนายว่ากว้าจะเปลี่ยนเป็นหกประสาน คือต้องหันกลับมาคุยกันใหม่
ส่วนผลตัดสินที่ออกมานั้น ผู้เขียนขอยกจากเว็บ kapook.com ดังนี้
ศาลโลกยืนตามคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารปีั 2505 ให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ส่วนเขตแดนให้ไปตกลงกันเอง 2 ประเทศโดยมี UNESCO ดูแลขณะที่ทูตวีรชัย ชี้ กัมพูชาไม่ได้ในสิ่งที่ร้องขอต่อศาล
เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการ ศาลโลก ได้ออกนั่งบนบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารแล้ว โดยคณะผู้พิพากษาเริ่มต้นด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของไทย
ซึ่งหลังจากนั้น ประธานศาลโลก ได้เริ่มต้นอ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชาได้ยื่นร้องขอให้ศาลโลกตีความคดีดังกล่าวในปี 2554 ตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 เรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยประธานศาลโลก ระบุว่า ศาลโลกมีมติรับคำร้องขอของกัมพูชาที่จะตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามรัฐธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 โดยให้พิจารณาตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย ซึ่งทำให้ศาลโลก ไม่อาจตีความเกินคำพิพากษาปี 2505 ได้
และเมื่อย้อนกลับไปดูคำตัดสินปี 2505 พบว่า กรณีนี้เป็นประเด็นเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าการกำหนดเขตแดน โดยที่ศาลโลกมีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะข้อที่เป็นเหตุที่ไม่ใช่บทปฏิบัติการ และไม่ได้มีแนบในแผนที่ในคำพิพากษาปี 2505 ประกอบกับการนำเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางเยือนปราสาทพระวิหาร โดยมีทางการฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการยอมรับดินแดนทางอ้อม อีกทั้ง การที่คู่ความทั้งสองได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 ถูกบรรจุในสนธิสัญญา สำหรับการที่ขอตีความครั้งนี้ กัมพูชาระบุว่า ขอบเขตพื้นที่พิพาทเล็กมาก ขณะที่ศาลโลกเห็นพ้องว่าพื้นที่พิพาทนี้ก็เล็กมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาปี 2505 ศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดน เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องการกำหนดอธิปไตยมากกว่ากำหนดดินแดน ดังนั้น ศาลโลกจึงเห็นว่า สมควรให้ไทยและกัมพูชาดำเนินการหารือกันเอง เพื่อร่วมรักษามรดกโลกแห่งนี้ให้คงไว้
ทั้งนี้ หลังจากศาลโลกได้อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จากนั้น ในเวลา 17.35 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้แถลงข่าวว่า ทั้งสองฝ่ายรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาล ซึ่งหลังจากนี้จะไปหารือกับกัมพูชาในคณะกรรมาธิการร่วมฯ ต่อไป พร้อมกับให้ นายวีระชัย พลาศัย ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของฝ่ายไทยได้ชี้แจงต่อ
โดย นายวีระชัย พลาศัย ทูตไทยที่เป็นตัวแทนไปสู้คดีเขาพระวิหาร ได้กล่าวว่า ศาลได้ตัดสินว่ามีอำนาจพิจารณาตีความตามคำร้องของกัมพูชา อย่างไรก็ตาม กัมพูชาไม่ได้รับในสิ่งที่มาร้องขอต่อศาล คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่ภูมะเขือ กัมพูชาไม่ได้ เพราะศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แต่ได้เน้นว่าเป็นพื้นที่เล็กมาก ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังคำนวณอยู่ ส่วนพื้นที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตรที่เป็นปัญหากันอยู่นั้น ศาลไม่ได้ตัดสินว่าผูกพันกับไทย ดังนั้นถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ๆ
นอกจากนี้ นายวีระชัย ยังระบุด้วยว่า ศาลโลกได้แนะนำให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาร่วมกันดูแลเขาพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก
สรุปง่ายๆ ก็คือ ยังคงเป็นการยืนยันตามคำตัดสินเดิม ซึ่งชัดเจนว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ.2505 และให้ไปตกลงหาผลประโยชน์ร่วมกันในส่วนข้อพิพาทกันเอง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ 4 ที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ และถือว่าไทยเองก็ไม่ได้เสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้แก่กัมพูชาตามที่กัมพูชาร้องขอ ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้าง win-win ทั้งสองฝ่าย ตามที่ได้ทำนายไว้เช่นกัน โดยที่ไม่มีเหตุให้เกิดความรู้สึกเสียหายจนต้องเคลื่อนกำลังทหาร หรือต่อสู้ห้ำหั่นแย่งชิงแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้คนอาจจะตีความคำตัดสินนี้แตกต่างกันไปตามความรู้สึกของตน ฝ่ายที่ชูวาทะกรรม “ทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร” อาจจะรู้สึกว่าไทยได้สูญเสียปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชาไป และรู้สึกว่าไทยแพ้คดี ทั้งที่ในความเป็นจริงศาลโลกได้เคยตัดสินคดีนี้ไปแล้ว และครั้งนี้ก็เป็นเพียงการยืนยันคำตัดสินเดิมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร (ไม่ใช่แค่ตัวปราสาทอย่างที่พยายามตีประเด็นกันในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้) ซึ่งหากตรงข้ามหากศาลตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของไทยซึ่งขัดแย้งกับคำตัดสินเดิม ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์อาจจะวุ่นวายกว่าเดิมเนื่องจากกัมพูชาก็คงไม่ยินยอมเช่นเดียวกัน ดังนั้นการตัดสินเช่นนี้ของศาลโลกจึงถือว่าค่อนข้างที่จะประณีประนอมต่อทั้งสองฝ่ายแล้ว และจนถึงบัดนี้ทั้งสองประเทศก็ดูจะพอใจกับคำตัดสิน และฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแต่อย่างใด ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลจะสามารถต่อรองผลประโยชน์เหนือดินแดนข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรให้ดีที่สุด โดยไม่ถูกกัมพูชาเอาเปรียบได้อีก และหวังว่าจะไม่มีใครนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง จนทำให้ไทยต้องเขาสู่ความเสี่ยงเช่นนี้อีกเลย
ปล. งดดราม่านะครับ ผมเข้าใจว่ามีคนเห็นต่างไม่น้อยทีเดียว
ปล.2. ผบ.ทบ. ออกมายืนยันแล้วนะครับ ว่าไทยยังไม่ได้เสียดินแดนเพิ่ม แสดงว่าที่เราเข้าใจว่าเสียไปก็คือดินแดนเดิมที่เราเสียไปตั้งแต่ปี 2505 แต่ยังมีความไม่ชัดเจนมากกว่า