จากที่ได้คลุกคลีกับกลุ่มผู้เรียนวิชาอี้จิงแนวพยากรณ์โดยเฉพาะในหมู่คนที่เรียนวิชาลิ่วเหยา (บ้านเราเรียกกันหลายชื่อ อย่างอี้จิงผู่กว้า อี้จิงผกข่วย ลักง้าวข่วย อี้ฮักลักง้าวข่วย บลาๆๆๆ จีนกลางกับแต้จิ๋วมันปนกันมั่วไปหมด จะอี้หรือเอี๊ยะ จะผู่กว้าหรือผกข่วย งงไปหมด) อ่า…ต่อครับ เท่าที่ผมเคยได้พูดคุยมาพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้รู้วิชาพยากรณ์แบบพอคร่าวๆ แต่ที่น่าเสียดายคือไม่ได้รู้เรื่องอี้จิงจริงๆ มากนักเพียงแต่รู้ขั้นตอนพยากรณ์คร่าวๆตามที่ได้เรียนมาเท่านั้น แต่ว่าหลักการวิชา ที่มาที่ไป ปรัญชาเบื้องลึกทั้งหลายของวิชานี้ก็อาจจะไม่รู้จัก หรือแม้แต่ชื่อวิชาจริงๆก็ยังไม่รู้ เรียกชื่อก็ยังผิดๆถูกๆ ซึ่งน่าเสียดายจริงๆ
จริงๆแล้วถ้าเริ่มจากวิชาพยากรณ์ลิ่วเหยาเลย ผมพบว่าต่อให้เป็นคนจีนเองก็ไม่ได้รู้ลึกไปถึงความสัมพันธ์ที่แท้กับคัมภีร์อี้จิงหรือโจวอี้ที่โจวเหวินหวังได้แต่งขึ้นมาเลยซักนิด ส่วนใหญ่แล้วก็คิดว่าวิธีการแปรเส้นฉักลักษณ์ที่ใช้ในวิชาลิ่วเหยานั้นคือวิธีการแปรเส้นเพื่อตั้งฉักลักษณ์สำหรับทำนายเท่านั้น และไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้นเลยจึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไร และมีไม่น้อยที่ไม่รู้แม้แต่เรื่องลำดับอนุกรมของจิงฝางซึ่งเป็นที่มาของวิชาลิ่วเหยา
ดังนั้นในครั้งนี้ผมจึงมาขอต่อยอดความรู้จากคราวก่อน เผื่อใครที่สนใจจะเรียนวิชาลิ่วเหยา จะได้มาศึกษาดูว่าความสัมพันธ์ของการแปรเส้นในฉักลักษณ์แบบของจิงฝางนั้นมีหลักการอะไรแฝงอยู่มากไปกว่าแค่เป็นการตั้งฉักลักษณ์พยากรณ์หรือเปล่า…มาดูกันครับ
จากตอนที่แล้ว เราได้อธิบายถึงวิธีการตั้งขึ้นของลำดับอนุกรมฉักลักษณ์แบบจิงฝางไป ซึ่งได้รูปลำดับอนุกรมดังรูปล่าง
แผนภาพลำดับอนุกรมฉักลักษณ์แบบจิงฝาง |
*** ตัวเลขในรูปคือลำดับฉักลักษณ์ของเหวินหวังในคัมภีร์อี้จิงครับ
ซึ่งหากดูเผินๆแล้วก็ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กับลำดับอนุกรมของฉักลักษณ์แบบเหวินหวังแต่อย่างใด ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่คนไม่น้อยคิดเพียงว่า นี่คือการแปรเส้นเพื่อการใช้ในวิชาพยากรณ์เท่านั้น…
อย่างไรก็ตาม ในความจริงแล้วลำดับอนุกรมของจิงฝางนี้มีความสัมพันธ์กับความหมายฉักลักษณ์ของเหวินหวังในคัมภีร์อี้จิงด้วย และแน่นอนโดยตัวมันเองยังสามารถอธิบายความหมายฉักลักษณ์ได้ตามหลักการวิเคราะห์ของจิงฝางด้วย ซึ่งขอไว้อธิบายในตอนต่อๆไป…
ก่อนอื่น เรามาลองดูความสัมพันธ์ของลำดับฉักลักษณ์ในลำดับอนุกรมของจิงฝาง เทียบกับลำดับฉักลักษณ์ในลำดับอนุกรมของเหวินหวังหรือในคัมภีร์โจวอี้กันดูก่อนนะครับ โดยเราจะใช้ลำดับฉักลักษณ์ของจิงฝางมาเรียงลำดับเขียนออกมาเป็นวงกลมครับ โดยที่ยังใส่ตัวเลขของลำดับฉักลักษณ์ในคัมภีร์อี้จิงไว้ด้วย จากนั้นลองลากคู่ตรงข้ามซึ่งเป็นเลขติดกันตามหลักอนุกรมเหวินหวังในคัมภีร์อี้จิงลงในรูปวงกลม(อ่านเรื่องลำดับอนุกรมของเหวินหวังและคู่ตรงข้ามแบบเบื้องต้นได้ที่ ลำดับอนุกรมของเหวินหวัง ครับ) จะได้ดังรูปล่างครับ
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ 2ระบบ (เครดิต : iching.egoplex.com) |
จะเห็นว่าเมื่อเราลากคู่ตรงข้ามตามหลักลำดับฉักลักษณ์ของเหวินหวังลงไปในลำดับของจิงฝางแล้ว จะได้รูปสมมาตรที่มีนัยสำคัญ โดยแบ่งออกเป็นสองระบบ หนึ่งคือเส้นสีน้ำเงิน อีกหนึ่งคือเส้นสีแดงซึ่งดูจะลากทับอยู่ในสมมาตรของเส้นสีน้ำเงินอีกที ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่ได้สมการความสัมพันธ์ที่แท้จริงได้ แต่อย่างไรก็ดีเอาอาจจะสามารถอนุมานได้ว่าจากรูปแบบที่เห็นนี้แสดงว่าการเรียงลำดับอนุกรมของทั้งระบบจิงฝางและระบบเหวินหวังต่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่เป็นการเรียงลำดับที่มีรูปแบบอย่างมีนัยยะสำคัญ
หากเราแยกกลุ่มสมมาตรกลุ่มเส้นสีแดงจากรูปบนออกมา เราจะพบว่าในกลุ่มนี้จะแบ่งได้ถึงสามกลุ่ม ซึ่งล้วนแต่วางอยู่ตรงข้ามกันอย่างสมมาตรพอดิบพอดีเช่นกัน ดังรูปล่าง
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ 2ระบบ (เครดิต : iching.egoplex.com) |
จากรูปบน ประกอบด้วยกลุ่มเส้นสีชมพู เขียว และสีเหลืองซึ่งสมมาตรกัน แต่ที่น่าสนใจคือสีเขียวครับซึ่งเมื่อแยกเส้นสีเขียวออกมาดูดีๆจะพบว่ามันเป็นการลากคู่ตรงข้ามด้วยฉักลักษณ์บริสุทธ์ทั้งแปดซึ่งเป็นฉักลักษณ์วิหารพอดี และหากเราพยายามลากเส้นทั้งหมดให้สมมาตรผ่านศูนย์กลางด้วยเส้นสีฟ้าจะพบว่าเราจะได้คู่ตรงข้ามซึ่งสัมพันธ์กับแผนภูมิอัฏฐลักษณ์แบบก่อนสวรรค์อีกด้วย ดังนั้นนี่ย่อมยืนยันได้มากขึ้นถึงการอนุมานว่าลำดับอนุกรมทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกัน
นอกจากนี้หากเราเอาตารางลำดับอนุกรมของจิงฝาง(ที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสรูปแรกของบทความนี้) มาทำการจับคู่ตรงข้ามตามลำดับอนุกรมเหวินหวังบ้าง เราจะพบว่ามันจะสามารถจับคู่ความสัมพันธ์แบบสมมาตรได้อย่างน่าสนใจอีกเช่นกัน ดังรูปล่าง
คู่ตรงข้ามในลำดับจิงฝาง (เครดิต : iching.egoplex.com) |
ท่านอาจจะมึนงงอยู่มากว่ามันหมายถึงอะไร โดยเฉพาะท่านที่ยังไม่เคยศึกษาและตีความความหมายฉักลักษณ์ทั้ง 64 ของเหวินหวังโดยกระจ่าง แต่อย่างไรก็ตามผมจะสรุปส่วนสำคัญอย่างย่อให้ฟังครับ
เริ่มจากเมื่อเราจับคู่ตรงข้ามตามลำดับฉักลักษณ์ของเหวินหวังในคัมภีร์อี้จิงแล้ว เราจะได้รูปซึ่งพบว่ามันสอดคล้องกับแนวคิดการแบ่งกลุ่มวิหารของเหวินหวังอย่างน่าประหลาด โดยแบ่งได้กลุ่มใหญ่ 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นสดมภ์แนวตั้งซึ่งมีคู่ตรงข้ามในแนวตั้งด้วยกันเท่านั้น กลุ่มนี้ตรงกับที่จิงฝางกำหนดให้เป็นกลุ่มฉักลักษณ์ต้นวิหารพอดี
กลุ่มที่สอง จะมีความสัมพันธ์ของคู่ตรงข้ามแบบสมมาตร โดยทั้งหมดจะตัดกันที่ฉักลักษณ์กลาง 4 ฉักลักษณ์ ราวกับว่าฉักลักษณ์กลุ่มหนึ่งในนี้นั้นจะมุ่งรวมกันที่ฉักลักษณ์หนึ่งตรงกลาง ซึ่งมีทั้งหมด 4 ฉักลักษณ์ ในกลุ่มนี้ทั้งหมดจิงฝางได้กำหนดให้เป็นฉักลักษณ์ภพ
กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่เป็นสดมภ์แนวตั้งซึ่งมีคู่ตรงข้ามในแนวตั้งด้วยกันเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนี้ตรงกับที่จิงฝางกำหนดให้เป็นกลุ่มฉักลักษณ์วิญญาณท่องพอดีอีกเช่นกัน
กลุ่มที่สี่ คือกลุ่มที่เป็นสดมภ์แนวตั้งซึ่งมีคู่ตรงข้ามในแนวตั้งด้วยกันเท่านั้นอีกเช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้ตรงกับที่จิงฝางกำหนดให้เป็นกลุ่มฉักลักษณ์วิญญาณหวนพอดีอีกเช่นกัน
หากเราดูคร่าวๆ จะพบว่าอย่างน้อยการแบ่งกลุ่มฉักลักษณ์ของจิงฝางเป็น 4 กลุ่ม คือ ต้นวิหาร ภพ วิญญาณท่อง และวิญญาณหวน ล้วนแต่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลอยๆเลยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงอนุมานว่ากลุ่มฉักลักษณ์ของจิงฝางนั้นเป็นอะไรที่สมเหตุสมผล
แต่สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด คงจะเป็นเรื่องของภาพรวมความสัมพันธ์ของฉักลักษณ์ในลำดับอนุกรมของจิงฝางซึ่งดูจะมีความเร้นลับของปรัชญาขั้นสูงแฝงอยู่ ซึ่งเพื่อไม่ให้ยาวเกินไปผมขออธิบายเฉพาะฉักลักษณ์กลางที่ถูกตัดผ่านละกันครับ โดยขอพิจารณาแค่คู่เดียว ได้แก่ฉักลักษณ์ที่ 11 กับ 63 ครับ
สำหรับท่านที่รู้ความหมายของฉักลักษณ์ แน่นอนว่าก็จะรู้ว่า ฉักลักษณ์ที่ 11 นั้น มีตรีลักษณ์บนเป็นคุน-ดิน ตรีลักษณ์ล่างเป็นเฉีนน-ฟ้า ความหมายคือ สันติสุข ส่วนฉักลักษณ์ที่ 63นั้นมีตรีลักษณ์บนเป็นขั่น-น้ำ และตรีลักษณ์ล่างเป็นหลี-ไฟ ความหมายคือ เสร็จสมบูรณ์
ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะว่าฉักลักษณ์ทั้งสองนี้ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของจุดสูงสุดในคัมภีร์นี้ ซึ่งสันติสุขนั้นดูเหมือนจะเป็นจุดสูงสุดของสังคมและสรรพสิ่งดังภาพลักษณ์ของการรวมตัวกันของฟ้าและดิน ส่วนเสร็จสมบูรณ์นั้นชื่อก็บ่งว่าเป็นบทสรุปอย่างแน่นอนอยู่แล้วซึ่งมันเป็นการรวมตัวกันของน้ำและไฟ ซึ่งดูจะเป็นคู่ตรงข้ามของชายหญิงและสิ่งต่างๆเช่นกัน
สันติสุขคือบทสรุปของจุดสูงสุดของสังคม เสร็จสมบุรณ์คือบทสรุปของการเสร็จสิ้นในภารกิจ ซึ่งผมมองว่าคู่นี้เหมาะกับการอยู่ในกลุ่มฉักลักษณ์ภพอย่างที่สุดและการจับเอาคู่นี้มาเป็นจุดตัดผ่านของกลุ่มฉักลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเราพิจารณาจากความเป็นคู่ตรงข้ามแล้วเราจะพบว่า ความเป็นฟ้า-ดิน และ ไฟ-น้ำ นั้น เป็นจุดกำเนิดของความเป็นคู่ตรงข้ามในโลกหรือภพที่เราสามารถสัมผัสได้นี้อย่างแท้จริง
สำหรับปรัชญาและความหมายที่ลึกกว่านี้ของฉักลักษณ์ทั้งสอง รวมทั้งฉักลักษณ์อื่นๆ ผมหวังว่าทุกท่านจะมีโอกาสได้ลองศึกษาดูครับ
ถึงบทสรุปจริงๆซะทีนะครับ
จากทั้งหมดหลายตอนที่ผ่านมา จะพบว่าวิธีตามระบบฉักลักษณ์ของจิงฝางนั้นควรแล้วที่จะได้กลายเป็นระบบใหญ่ระบบหนึ่งของวิชาอี้จิง มุมมองของลำดับอนุกรมของจิงฝางนั้นได้ขยายความน่าทึ่งให้กับลำดับอนุกรมของเหวินหวังได้เป็นอย่างดีและได้ขยายมุมมองของลำดับอนุกรมให้กว้างมากขึ้นไปได้อีก อีกทั้งการที่จิงฝางได้สร้างแนวทางการเชื่อมโยงระบบกาลของระบบปฏิทินจีนซึ่งเป็นสิ่งใกล้ชิดกับประชาชนเข้าไปในฉักลักษณ์นั้น ได้กลายเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของการใช้และตีความฉักลักษณ์ให้มีความหลากหลายขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นผมจึงหวังว่าชาวไทยที่อ่านบทความนี้แล้วจะมีความสนใจในการหาความรู้ระบบอี้จิงต่างๆอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับระบบฉักลักษณ์ของจิงฝางนี้ด้วยครับ
ขอบคุณ iching.egoplex.com สำหรับรูปและข้อมูลบางส่วนที่ทำให้บทความนี้ง่ายขึ้นและสมบูรณ์ครับ