ทฤษฎีน่าเจี่ย (納甲) ของจิงฝาง
ทฤษฎีน่าเจี่ย ซึ่งบ้านเราดูเหมือนจะเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่าทฤษฎีหนับกะ คือทฤษฎีที่รองรับความสัมพันธ์ระหว่างระบบกาลกับระบบฉักลักษณ์ โดยมองว่าระหว่างระบบกาลและระบบฉักลักษณ์ของอี้จิงนั้นมีความสัมพันธ์กันอยู่ สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักระบบกาลของจีนเลยนั้นอยากให้อ่านบทความเรื่อง ระบบกาลของจีน ก่อนนะครับ
ทฤษฎีน่าเจี่ยนี้มีใหญ่ๆอยู่สองทฤษฎี หนึ่งนั้นคือทฤษฎีของหยูฟานแต่เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมผมจึงไม่ขอกล่าวถึงครับ อีกหนึ่งคือทฤษฎีน่าเจี่ยของจิงฝางนี่เองครับ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางครับ
ย้อนกลับไปที่เรื่องระบบกาลปฏิทินของจีนแล้ว เราจะพบว่าชาวจีนใช้ระบบการผสมของสองระบบนับ หนึ่งคือเทียนกาน-ต้นฟ้า(บ้านเราอาจจะแปลเป็นราศีฟ้า) หนึ่งคือตี้จือ-กิ่งดิน(บ้านเราอาจจะแปลเป็นราศีดิน) ดังนั้นในทฤษฎีน่าเจี่ยจึงเป็นการนำเอาต้นฟ้าและกิ่งดินนี้เข้ามาอยู่ในระบบกว้าหรือฉักลักษณ์นั่นเอง
สำหรับในบทนี้ผมคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรจีนได้ครับ จึงคงต้องเขียนไว้และจะดีหากผู้อ่านทุกท่านพยายามจำหน้าตาตัวอักษรจีนที่ต้องใช้ไว้บ้างครับ โดยเฉพาะในส่วนของระบบกาลครับ (***ย้ำอีกครั้งว่าควรอ่านเนื้อหาเบื้องต้นในส่วนของระบบกาลก่อนนะครับ)
เอาล่ะครับ เรามาดูกันว่า ต้นฟ้าและกิ่งดินในระบบกาลนั้นถูกจับมาอยู่ในระบบฉักลักษณ์ได้อย่างไร ซึ่งผมขอสรุปง่ายๆออกมาเป็นตารางเลยนะครับ
การน่าเจี่ยแบบจิงฝาง |
อ่านยากใช่มั้ยครับ? ผมตั้งใจเองแหละ คือผมอยากให้เด่นที่ตัวอักษรจีนครับ เนื่องจากคิดว่าตารางนี้จะใช้อ้างอิงต่อไปในวิชาลิ่วเหยาได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าหากท่านสามารถจำหน้าตาตัวอักษรจีนได้จะมีประโยชน์มาก และจะทำให้ท่านสามารถใช้โปรแกรมช่วยในการตั้งฉักลักษณ์ได้ด้วย(ซึ่งเป็นภาษาจีน) ผมจึงตั้งใจให้ตัวอักษรจีนมีความโดดเด่น และตัวหนังสือไทยแทบมองไม่เห็นดังที่ปรากฏในตาราง
และที่สำคัญที่สุดครับ หากต่อไปนี้ผมเขียนเรื่องนี้ต่อ รวมทั้งเรื่องวิชาลิ่วเหยา นั่นหมายความว่าผมต้องมีการยกตัวอย่างการตั้งฉักลักษณ์อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งผมยอมรับครับว่าการที่ผมต้องจับรูปซึ่งตั้งฉักลักษณ์เป็นภาษาจีนขึ้นมาแล้ว มาแปลเป็นไทยอีกครั้งนั้นมันลำบากและเสียเวลาในการทำอย่างมากครับ ดังนั้นหากผู้อ่านสามารถจำหน้าตาตัวอักษรเหล่านี้ได้จะเป็นการดีมากครับและจะทำให้ผมสามารถอัพเดทเว็บได้บ่อยและง่ายขึ้น(เบ๋ยยยยยย)
เอาล่ะครับ…เข้าเรื่องเนาะ จากตารางนะครับ เราจะเห็นว่าแถวบนสุดจะแสดงฉักลักษณ์พร้อมกับคุณสมบัติธาตุของฉักลักษณ์ต้นวิหาร(ซึ่งฉักลักษณ์ใดๆที่แปรจากฉักลักษณ์ต้นวิหารนี้จะมีคุณสมบัติธาตุตามฉักลักษณ์ต้นวิหาร) สดมภ์ด้านซ้ายจะแสดงลำดับเส้น จาก 1 ถึง 6 จากล่างขึ้นบน โดยให้คิดแยกเป็นตรีลักษณ์ด้วยนะครับ คือจะแบ่งเส้น 1 ถึง 3 เป็นตรีลักษณ์ล่าง(ตรีลักษณ์ใน) และเส้น 4 ถึง 6 เป็นตรีลักษณ์บน(ตรีลักษณ์นอก)ครับ
ตัวอักษรจีนในแต่ละช่องนะครับ ตัวอักษรซ้ายบนจะเป็น 10 ต้นฟ้า ตัวอักษรขวาบนจะเป็น 12 กิ่งดิน ตัวอักษรล่างจะเป็นคุณสมบัติธาตุครับ ซึ่งมาจากคุณสมบัติธาตุของกิ่งดินในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าเส้นใดๆจะมีคุณสมบัติธาตุตามกิ่งดินที่อยู่ในเส้นนั้นนั่นเองครับ
มาดูตัวอย่างการเอาต้นฟ้ากิ่งดินที่ว่านี้มาใส่ในฉักลักษณ์กันจริงๆเลยดีกว่าครับ
เช่นผมได้ฉักลักษณ์ที่ 10 ก้าวย่าง(โปรดดูรายละเอียดจาก ตารางเทียบฉักลักษณ์) ซึ่งมีตรีลักษณ์บนเป็นเฉียน มีตรีลักษณ์ล่างเป็นตุ้ย ก็ให้ไปดูตามตารางด้านบนครับ ดูที่ฉักลักษณ์เฉียนตรีลักษณ์บน(เส้น 4 ถึง 6) และตรีลักษณ์ล่างก็ให้ดูจากตรีลักษณ์ล่าง(เส้น 1 ถึง 3)ของฉักลักษณ์ตุ้ยครับ จากนั้นก็ใส่ต้นฟ้า กิ่งดิน และธาตุของเส้นลงไปในฉักลักษณ์ ซึ่งจะได้ดังรูปล่างครับ(สีของเส้นผมใส่ตามสีของธาตุในเส้นนั้นๆ)
ตัวอย่างการจัดต้นฟ้ากิ่งดิน |
แฮ่….ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ…ถ้าขี้เกียจจำก็เก็บตารางบนไว้เทียบครับ สะดวกง่ายดายมาก ถ้าอยากจำก็อยากให้ลองสังเกตุการเรียงตัวของตำแหน่งต่างๆให้ดีครับ ถ้าจะจำเพื่อใช้ในวิชาลิ่วเหยาก็จำแค่ตำแหน่งของกิ่งดิน(ตัวอักษรจีนด้านซ้ายบน)เท่านั้นก็พอครับ ซึ่งจะได้คุณสมบัติธาตุไปด้วย เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วเวลาทำนายก็จะใช้แค่กิ่งดินและธาตุไปเทียบหาตำแหน่งความหมายครับ(ไม่มีใครใช้ต้นฟ้าหรอกครับ นอกจากพวกอยากแตกต่างจากชาวบ้าน สร้างหลักวิชามั่วๆไปหมดแล้วบอกว่านี่คือวิชาลับ เอาเข้าจริงๆผมเห็นการทำนายของพวกนี้แล้ว มั่วสุดๆ)
(***จริงๆวิธีจำมันมีครับ ขึ้นกับแต่ละสายอาจารย์ ถ้าเรียนวิชามาโดยตรงจะได้วิธีจำที่ง่ายมากครับ แต่ผมเองก็ไม่สะดวกจะเปิดเผยในที่สาธารณะครับ ต้องขออภัยด้วยครับ แต่เอาเข้าจริงๆถ้านั่งสังเกตุการเรียงตำแหน่งหน่อย แป๊บเดียวก็จับเคล็ดได้ละครับ)
ญาติทั้งหก (六親)
เอาล่ะครับ ไหนๆก็ไหนๆก็พ่วงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่นสุดๆอย่างเรื่อง ญาติทั้งหก เข้าไปด้วยเลยละกันครับ จะได้ใส่ตัวจีนเท่ห์ๆเข้าไปในฉักลักษณ์ให้คนงงเล่นแบบซินแสกันได้ซะที เย๊…
ญาติทั้งหก คือตำแหน่งความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นภายในฉักลักษณ์จากธาตุซึ่งมาจากการวางของกิ่งดิน โดยเทียบกับคุณสมบัติธาตุของฉักลักษณ์ต้นวิหารที่แปรมา อาาา อ่านแล้วผมยังงงเลยว่ะ…
ช่างมันเถอะครับ…ผมขอยกหลักวิชาแล้วเข้าตัวอย่างเลยดีกว่า ท่าจะเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ
หลักคิดง่ายๆนะครับ เริ่มแรกให้เราหาว่าฉักลักษณ์ที่เราได้นั้นอยู่ในวิหารไหน ก็จะได้คุณสมบัติธาตุตามฉักลักษณ์ต้นวิหารนั้นๆ ให้เราเอาคุณสมบัติธาตุนี้เป็นตัวตั้งครับ และแทนตัวเราเอง ขอเรียกคุณสมบัติธาตุตัวนี้ว่า ธาตุเจ้าตัว ละกันครับ
จากนั้นให้ดูคุณสมบัติธาตุในเส้นต่างๆเทียบกับธาตุเจ้าตัวครับ โดยมีหลักดังนี้ครับ
กำเนิดเจ้าตัวคือ พ่อแม่(父母)
ข่มเจ้าตัวคือ อำมาตย์-ผี(官鬼)
เทียบเท่าเจ้าตัวคือ พี่น้อง(兄弟)
เจ้าตัวไปข่มคือ ภรรยา-ทรัพย์(妻財)
เจ้าตัวไปให้กำเนิดคือ ลูกหลาน(子孫)
อาจจะงงครับ เพราะเอาเข้าจริงมันดันมีแค่ 5 ตำแหน่งครับ แต่รวมตัวเราเข้าไปด้วยครับจะเป็น 6 ครับ และก็ผมยังไม่ขออธิบายความหมายของญาติทั้งหกนะครับ เอาไว้อธิบายตอนขึ้นวิชาลิ่วเหยาละกันครับ ในบทนี้แค่สอนว่าใส่ตำแหน่งในฉักลักษณ์ยังไงก่อนครับ
ตัวอย่างเลยนะครับ ผมเริ่มเขียนต่อไม่ไหวแล้ว…
จากตัวอย่างเดิมครับ ฉักลักษณ์ที่ 10 ก้าวย่างครับ หากเราลองเทียบในเรื่องของวิหารดู จะพบว่าฉักลักษณ์นี้อยู่ในวิหารเกิ้นครับ ซึ่งวิหารเกิ้นเป็นธาตุดินดังนั้นฉักลักษณ์นี้จึงอยู่ในธาตุดินด้วยครับ
จากนั้นให้ธาตุดินเป็นธาตุเจ้าตัว แล้วมาเทียบกับธาตุในเส้นครับ…
เส้นล่างสุดเป็นธาตุไฟ ไฟกำเนิด(ส่งเสริม)ดิน แสดงว่าไปกำเนิดเจ้าตัว เส้นที่หนึ่งจึงเป็นพ่อแม่
เส้นสองเป็นธาตุไม้ ไม้ข่มดิน แสดงว่าข่มเจ้าตัว เส้นที่สองจึงเป็นอำมาตย์-ผี
เส้นที่สามเป็นธาตุดินเช่นเดียวกับเจ้าตัว ถือว่าเทียบเท่ากัน เส้นที่สามจึงเป็นพี่น้อง
เส้นที่สี่เป็นธาตุไฟ ไฟกำเนิดดิน กำเนิดเจ้าตัว เส้นที่สี่จึงเป็นพ่อแม่
เส้นที่ห้าเป็นธาตุทอง ธาตุดินของเจ้าตัวไปกำเนิดธาตุทอง แสดงว่าเส้นที่ห้าเป็นลูกหลาน
เส้นที่หกเป็นธาตุดิน เทียบเท่าเจ้าตัว เป็นพี่น้อง
ดังนั้นจึงใส่รายละเอียดเข้าไปในฉักลักษณ์ได้ดังนี้
ตัวอย่างการเพิ่มตำแหน่งญาติทั้งหก |
โฮกกกก…เป็นไงครับ พอเข้าใจมั้ยครับ ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เราได้ฉักลักษณ์ที่มีตัวจีนบอกตำแหน่งสุดเท่ห์เหมือนกับที่ซินแสชอบโชว์แล้วล่ะครับ ซึ่งความเป็นมาของการใส่ตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ก็มาจากทฤษฎีน่าเจี่ยของจิงฝางนี่เองครับ ซึ่งผมก็ได้พยายามอธิบายให้กระชับและเข้าใจง่ายอย่างที่สุดแล้วครับ โดยไม่แสดงให้มันดูลึกลับหรือลวงตาคนอยากรู้อยากอ่านแต่อย่างใด
ส่วนว่าทำไมตำแหน่งต่างๆถึงวางแบบนี้นั้น ผมก็อยากเขียนนะครับ แต่มันเป็นภาคทฤษฎีที่ลึกและยาวเฟื้อย จนคงต้องรอให้โอกาสมันเหมาะสมค่อยเขียนละกันนะครับ
และสำหรับตอนหน้า ก็น่าจะเป็นตอนจบของเนื้อหาของจิงฝางละครับ ใครชอบไม่ชอบยังไงก็เมนต์กันหน่อยนะครับ ผมจะได้รู้ว่าเขียนได้ดีหรือไม่ จะได้ไว้ปรับปรุงต่อไปครับ