หลังจากที่เราได้รู้เกี่ยวกับลำดับอนุกรมฉักลักษณ์ของจิงฝางกันแล้ว ผมก็ขอต่อด้วยเนื้อหาที่ต่อเนื่องกันเลยนะครับ นั่นก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ของเส้นในตรีลักษณ์บนและตรีลักษณ์ล่าง นั่นคือเรื่องของ ซื่อ(世) และ ยิ่ง(應)
ทฤษฎีเกี่ยวกับ ซื่อ(世) และ ยิ่ง(應)
ในคัมภีร์อี้จ้วนหรือคัมภีร์สิบปีกของขงจื้อ ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของเส้นที่อยู่ในตรีลักษณ์บนและตรีลักษณ์ล่างไว้ว่า ความสัมพันธ์ของตรีลักษณ์บนและล่างนั้นเกิดจากการที่เส้นแรก(เส้นล่างสุด)สัมพันธ์กับเส้นที่สี่(เส้นแรกของตรีลักษณ์บน) เส้นที่สองสัมพันธ์กับเส้นที่ห้า(เส้นที่สองของตรีลักษณ์บน) และเส้นที่สามสัมพันธ์กับเส้นที่หก(เส้นบนสุดของตรีลักษณ์บน)
ทีนี้เมื่อเรากล่าวถึงการแปรเส้นในฉักลักษณ์ในแบบของจิงฝางแล้ว เราจะพบว่ามันมีการไล่ลำดับเส้นจากเส้นแรกขึ้นไป จนเกิดการแปรฉักลักษณ์ถึงแปดฉักลักษณ์ ซึ่งลำดับของการแปรนี่เองเป็นที่มาของคำว่า ซื่อ (世)
ซื่อ (世) หมายถึงภพ เส้นที่เป็นตำแหน่งของ ซื่อ นั้น ผมขอเรียกว่า เส้นภพ ละกันนะครับ
เรามาดูเรื่องตำแหน่งเส้นภพกันเละละกันครับ ดังนี้
ฉักลักษณ์ต้นวิหาร ซึ่งเป็นฉักลักษณ์เริ่มต้นของแต่ละวิหาร ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่หกหรือเส้นบนสุด
ฉักลักษณ์ภพหนึ่ง ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นแรกหรือเส้นที่หนึ่งซึ่งก็คือเส้นล่างสุดครับ
ฉักลักษณ์ภพสอง ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่สอง
ฉักลักษณ์ภพสาม ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่สาม
ฉักลักษณ์ภพสี่ ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่สี่
ฉักลักษณ์ภพห้า ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่ห้า
ฉักลักษณ์วิญญาณท่อง(ล่องลอย) ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่สี่
ฉักลักษณ์วิญาณหวน(กลับ) ตำแหน่งภพจะอยู่ที่เส้นที่สาม
เอาละครับ เมื่อเราได้เส้นภพกันแล้ว เราก็จะได้เส้นที่สัมพันธ์หรือตอบสนองกับเส้นภพตามหลักความสัมพันธ์ของตรีลักษณ์บนและล่างดังได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งเส้นนี้เรียกว่าเส้นยิ่ง (應)
ยิ่ง (應) หมายถึงตอบสนองหรือขานรับ ในที่นี้หากต้องแปลว่าเส้นตอบสนองแล้วก็ดูจะเรียบง่ายไป เกรงว่ายามเขียนบทความต่อๆไปจะสับสนกับคำปกติในบทความได้ ดังนั้นผมขออนุญาติเรียกเป็น เส้นสัมพัทธ์ ละกันครับ(เช็คจากพจนานุกรมแล้วพบว่าคำว่าสัมพัทธ์แปลว่า “ความเกี่ยวข้องกัน” ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดเพี้ยนมากนัก)
เส้นสัมพันธ์นี้จะขึ้นกับเส้นภพครับ ถ้าเส้นภพเป็นเส้นที่หนึ่ง(เส้นล่างสุด)เส้นสัมพัทธ์ก็จะเป็นเส้นที่สาม ถ้าเส้นภพเป็นเส้นที่สองเส้นสัมพัทธ์ก็จะเป็นเส้นที่ห้า ในทางตรงข้ามถ้าเส้นภพเป็นเส้นที่ห้า เส้นสัมพัทธ์ก็จะเป็นเส้นที่สอง เป็นต้นครับ
จิงฝางใช้ทฤษฏีเส้นภพและเส้นสัมพัทธ์ในการตีความฉักลักษณ์ทั้ง 64 ในตำรา “จิงซื่ออี้จ้วน” โดยใช้ร่วมกับการกำหนดตำแหน่งระดับของเส้นเปรียบเทียบกับระบบขุนนางและการปกครอง โดยแต่ละเส้นมีตำแหน่งดังนี้
เส้นบนสุด คือ | จงเมี่ยว | 宗廟 | วัดบูชาของกษัตริย์ |
เส้นที่ห้า คือ | เทียนจื่อ | 天子 | โอรสสวรรค์ |
เส้นที่สี่ คือ | จูโหว | 諸侯 | เจ้าผู้ครองแคว้น |
เส้นที่สาม คือ | ซานกง | 三公 | ขุนนางปกครอง(รัฐมนตรี) |
เส้นที่สอง คือ | ต้าฟู | 大夫 | ผู้ครองตำแหน่งขุนนางทั่วไป |
เส้นแรก คือ | หยวนซื่อ | 元士 | ตำแหน่งราชการที่ต่ำกว่าต้าฟู |
***ความหมายของตำแหน่งตั้งแต่ต้าฟูลงมานั้นไม่ตายตัว ในแต่ละราชวงค์มีความหมายถึงตำแหน่งที่แตกต่างกัน
***เส้นบนสุดซึ่งเป็นตำแหน่งของวัดบูชาของกษัตริย์นั้น สื่อความหมายถึงเป็นตำแหน่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเราจะเห็นว่าจะไม่มีการแปรเส้นฉักลักษณ์ในเส้นที่หก เนื่องจากตำแหน่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
จิงฝางใช้เส้นภพ ตำแหน่งระดับเส้น ตรีลักษณ์บน-ล่าง และความเป็นเส้นหยินหยาง เป็นตัวบอกความหมายฉักลักษณ์ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างข้อความในส่วนอธิบายเรื่องเส้นภพให้ดูซักเล็กน้อยครับ
“ว่าด้วยฉักลักษณ์ ขั่น ห้วงลึก เส้นภพอยู่ที่วัดบูชาของกษัตริย์ เป็นเส้นหยิน อยู่ใกล้เก้า-ห้า ล้วนอยู่ในวิถีของการไหลตามห้วงลึก ห่างไกลจากภัยและการถูกทำร้าย ซานกงอยู่ที่เส้นสัมพัทธ์ เป็นเส้นหยินอันมืดดำ บรรลุหลักของขั่นในเส้นเก้า-ห้าและเก้า-สอง” ***เก้าหมายถึงหยาง เก้า-ห้าหมายถึงเส้นหยางในตำแหน่งเส้นที่ห้า เก้า-สองหมายถึงเส้นหยางในตำแหน่งเส้นที่สอง
…แน่นอนว่าท่านอ่านไม่เข้าใจหรอกครับ เลยไม่เขียนยาว แต่เพียงเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของเส้นเท่านั้นเสียก่อนครับ
เอาล่ะ!!! ก็ถือว่าเราได้รู้แล้วว่าทำไมในหลักวิชาอี้จิงของจิงฝาง ถึงต้องมีการแปรเส้นฉักลักษณ์และเส้นภพ นั่นก็เพราะว่าจิงฝางใช้ตำแหน่งเส้นภพนี่เองในการอธิบายความหมายของฉักลักษณ์ในระบบของท่านนั่นเอง…
ทีนี้มาสรุปกันนะครับ ว่าตำแหน่งเส้นภพและเส้นสัมพัทธ์ทั้งหมดอยู่ตรงไหน ด้วยแผนภาพดังต่อไปนี้ครับ
![]() |
เส้นภพและเส้นสัมพัทธ์ในแผนภาพลำดับอนุกรมฉักลักษณ์แบบจิงฝาง |
***หมายเหตุ ตัวอักษร s หมายถึง ซื่อ หรือเส้นภพ และตัวอักษร y หมายถึง ยิ่ง หรือเส้นสัมพัทธ์ ส่วนตัวเลขล่างฉักลักษณ์คือเลขลำดับฉักลักษณ์ในคัมภีร์อี้จิง
***ขออนุญาติคงตัวอักษรภาษาอังกฤษแทนนะครับ เพราะถ้าต้องเขียนตัวหนังสือไทยหรือตัวอักษรจีนเข้าไป คงอ่วมเหมือนกันครับ ตั้ง 64 ฉักลักษณ์
ว่าด้วย เฟย(飛) และ ฝู(伏) (เหินบินและหมอบซุ่ม)
แถมให้อีกซักเล็กน้อยก่อนจบตอนนี้ครับ ด้วยเรื่องของ เฟยฝู 飛伏 ซึ่งแปลไทยได้ว่า เหินบินและหมอบซุ่ม โดย เฟย(飛) หมายถึงเหินบิน และ ฝู(伏) หมายถึงหมอบซุ่ม
ในระบบแปดวิหารนั้น ฉักลักษณ์ที่ตั้งขึ้นมานั้นจะเรียกว่าฉักลักษณ์เหิน หรือ เฟยกว้า(飛卦) และในทุกๆฉักลักษณ์จะมีฉักลักษณ์หลบลี้ หรือ ฝูกว้า(伏卦) อยู่เสมอ…
อย่างไรก็ตาม ในวิชาทำนายแบบลิ่วเหยานั้นมีระบบเฟยฝูที่ต่างกัน ซึ่งในวิชาลิ่วเหยาจะพิจารณาจากเส้นแทน(ไม่ใช่ฉักลักษณ์) ดังนั้นการเขียนรายละเอียดในระบบเฟยฝูแบบฉักลักษณ์อาจจะทำให้สับสนได้ในภายหลังจึงไม่ขอลงรายละเอียดต่อครับ แค่อธิบายว่าในระบบของจิงฝางนั้นจะเป็นการพิจารณาเฟยฝูจากฉักลักษณ์แต่ในวิชาลิ่วเหยาจะเป็นการพิจารณาจากเส้น ซึ่งผมขอเก็บไว้อธิบายในวิชาลิ่วเหยาต่อไปครับ