ตั้งแต่เปิดเว็บนี้ขึ้นมา มีหลายต่อหลายคนเสนอขอให้ลงเรื่องของวิชาเสี่ยงทายแบบพินิจเส้นทั้งหกหรือลิ่วเหยา เนื่องจากเป็นวิชาเสี่ยงทายที่มีรายละเอียดสูงและน่าอัศจรรย์ แต่อย่างไรก็ตามผมเองก็ยังลังเลใจอยู่เสมอเนื่องจากผมไม่อยากให้เว็บผมเป็นเว็บซินแสหรือเว็บหมอดูอะไรพวกนั้นไป เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผมที่ทำเว็บนี้ขึ้นมาก็เพื่อแนะนำวิชาอี้จิงให้ชาวไทยได้รู้จักถึงความลึกล้ำของหลักวิชาและปรัชญาที่แฝงอยู่ รวมถึงการแนะนำวิชาอี้จิงระบบต่างๆให้ชาวไทยได้รู้จักเพื่อเปิดมุมมองและความรู้ความสนใจในวิชานี้ให้มากขึ้น อย่างเช่นวิชาอี้จิงดอกเหมยเองซึ่งผมก็มิใช่จะลงโดยเน้นเนื้อหาเรื่องการพยากรณ์เท่านั้น แต่ยังเน้นหลักวิชา ความเป็นมา รวมทั้งการแนะนำตัวปรมาจารย์ซึ่งถือเป็นปราชญ์ของวิชาอี้จิงด้วยอย่างท่านเส้าคังเจี๋ยเป็นต้น ดังนั้นหากที่สุดแล้วเว็บผมกลายเป็นเว็บซินแสไปเสียแล้วผมคงเสียใจอย่างยิ่ง ดังนั้นการลงวิชาลิ่วเหยาจึงเป็นสิ่งที่ผมลังเลตลอดมา
แต่หากเปิดใจให้กว้าง วิชาลิ่วเหยาเองก็เป็นระบบหนึ่งในวิชาอี้จิง ซึ่งนอกจากการทำนายที่แม่นยำแล้วยังมีเรื่องของหลักการ เนื้อหา และปรัชญาที่แฝงอยู่พอๆกัน ซึ่งหากผมไม่นำเสนอเสียแล้วก็คงถือว่าขาดองค์ประกอบของวิชาอี้จิงไป ที่เป็นปัญหาคือบรรดาซินแสทุกวันนี้ต่างหากที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแนะนำองค์ประกอบของวิชานี้อย่างครบถ้วน แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การทำนายทายทักและพยากรณ์แต่เพียงอย่างเดียว สุดท้ายทำให้มุมมองและความเข้าใจที่ชาวไทยมีต่อวิชานี้นั้นกลายเป็นความผิดพลาดและไม่สมบูรณ์เสียเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นก่อนที่ผมจะเขียนเรื่องวิชาลิ่วเหยา ผมจึงขอเริ่มต้นด้วยบทความพิเศษเรื่องวิชาฉักลักษณ์แบบแปดวิหารของจิงฝางนี้ เพื่อเป็นการแนะนำความเป็นมาและหลักวิชาเบื้องต้นก่อนที่จะกลายเป็นวิชาลิ่วเหยาให้เป็นที่รู้จักกันเสียก่อน ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ที่เรียนวิชาลิ่วเหยามีความสนใจต่อความเป็นมาและหลักวิชาที่แท้จริงของวิชานี้ต่อไป
อ้อ…อีกอย่างครับ ที่ผ่านมานั้นเพื่อไม่ให้เว็บผมเหมือนกับเว็บซินแสที่ชอบเล่นศัพท์แสงจีนให้คนงงหรือเพื่อว่าให้คนรู้สึกว่ามันฟังดูแปลกและพิเศษเวลาทำนายอะไรหรือเขียนอะไรออกมามันจะได้ฟังดูหรู ดังนั้นผมจึงได้พยายามที่จะแปลถ้อยคำของจีนออกมาเป็นภาษาไทยเกือบทั้งหมด(ซึ่งยากกว่าการทับศัพท์ เพราะต้องเข้าใจความหมายจริงๆ) เพื่อให้เว็บผมเป็นเว็บที่สามารถอ่านและศึกษาให้เกิดความเข้าใจได้ ไม่ใช่แค่เอาไว้จำศัพท์จีนที่ไม่รู้ความหมายมาพูดให้ฟังดูพิเศษ ซึ่งสำหรับผมแล้วคำมากมายนั้นล้วนแต่เป็นคำทั่วไปซึ่งแปลได้(อย่างเช่นคำว่าเหยาหรือง้าวแปลว่าเส้น หรือลายลักษณ์) ซึ่งนอกเสียจากคำศัพท์เฉพาะแล้ว ผมคิดว่าเราสามารถแปลศัพท์ทั่วไปได้เพื่อความเข้าใจของคนอ่านซึ่งเป็นคนไทย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากในบทนี้อาจจะมีศัพท์เฉพาะซึ่งใช้แต่เพียงในวิชานี้เท่านั้นอยู่มาก ดังนั้นผมจึงขอแก้ปัญหาโดยการลงภาษาจีนไว้ด้วยเพื่ออ้างอิง และอาจจะต้องทับศัพท์ภาษาจีนบ้างเป็นบ้างคำเพื่อความสะดวกครับ
จิงฝาง ปรมาจารย์ของระบบแปดวิหาร
จิงฝาง เป็นชาวฮั่นตะวันตก(77-37 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นศิษย์ของเจียวก้าน(ผู้แต่งตำราอี้จิง “เจียวซื่ออี้หลิน”) เดิมแซ่หลี่ นามที่ตั้งให้เรียกคือจวินหมิง อาชีพรับราชการและเป็นผู้ที่มีความรู้ในวิชาอี้จิงอย่างยิ่ง ว่ากันว่าท่านเป็นผู้สร้างวิธีเสี่ยงทายด้วยเหรียญจีนขึ้นซึ่งต่อมาเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิธีใช้ไม้ติ้วแบบดั้งเดิมนั้นยุ่งยากและใช้เวลานานมากในการเสี่ยงทาย ท่านจิงฝางชอบใช้วิชาอี้จิงมาเป็นสิ่งเปรียบเทียบเพื่ออธิบายและวิจารณ์การเมือง นอกจากนี้ท่านยังมีความโดดเด่นในการนำฉักลักษณ์มาอธิบายเรื่องภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นอีกด้วย
ว่ากันว่าท่านจิงฝางได้แต่งตำราไว้คือ “อธิบายอี้จิงของจิงฝาง” (จิงฝางอี้จ้วน 京房易传) และ “อธิบายอี้จิงของตระกูลจิง” (จิงซื่ออี้จ้วน京氏易传) ซึ่งเล่มแรกนั้นไม่ได้เหลือสืบทอดอยู่ เพียงแต่มีการกล่าวถึงในตำราโบราณหลายที่เช่นในฮั่นซูหรือหนังสือของฮั่นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายภัยธรรมชาติ และเนื้อหาดูจะต่างกับเล่มหลังซึ่งเน้นไปในเรื่องของการทำนาย
จากหลักฐานในปัจจุบันเชื่อได้ว่าตำราทั้งสองเล่มนั้นน่าจะมาจากคนละคนกัน ตำราอธิบายอี้จิงของจิงฝางนั้นมีอายุเก่าแก่เนื่องจากมีการอ้างถึงในตำราเล่มอื่นๆในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับท่านจิงฝาง แต่เล่มอธิบายอี้จิงของตระกูลจิงนั้นกลับเพิ่งมีการกล่าวอ้างถึงในยุคสมัยราชวงค์ซ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าตำราเล่มนี้น่าจะเพิ่งมีขึ้นมาก่อนสมัยราชวงค์ซ่งไม่นานนัก(ซึ่งอาจจะเป็นราชวงค์ถัง) นอกจากนี้ตำราทั้งสองเล่มนั้นยังมีเนื้อหาที่ดูจะแตกต่างกันจนไม่น่าจะแต่งโดยบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าตำราอธิบายอี้จิงของตระกูลจิงนั้นน่าจะเกิดขึ้นในภายหลังโดยใครซักคนซึ่งอ้างชื่อท่านจิงฝางและแต่งมันขึ้นมา อย่างไรก็ดีเราพบความน่าสนใจจากหลักฐานหลายๆที่ว่า วิชาแปดวิหารนี้มีตั้งแต่ยุคสมัยฮั่นตะวันตกของจิงฝางแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงยังเชื่อกันว่าจิงฝางเป็นผู้กำหนดหลักวิชาแปดวิหารนี้ขึ้นมาซึ่ง…เราก็ว่าตามเค้าละกันครับ
เอาล่ะครับ เรามาดูระบบนี้กันครับ
ระบบ 8 วิหาร(ปากง 八宫)
ระบบ 8 วิหารนี้ จะเริ่มต้นด้วยฉักลักษณ์ต้นวิหาร หรือ กงกว้า(宫卦) ซึ่งจะเป็นฉักลักษณ์ต้นที่มีตรีลักษณ์บนและล่างเป็นตรีลักษณ์เดียวกัน เรียกอีกอย่างว่าเป็น ฉักลักษณ์แบบบริสุทธิ์มี 8 ฉักลักษณ์คือ เฉียน เจิ้น ขั่น เกิ้น คุน ซวิ่น หลี ตุ้ย และจะมีการแปรเส้นในฉักลักษณ์จากล่างขึ้นบนจนถึงเส้นที่ห้า แล้วจึงวนกลับมาแปรเส้นที่แปรไปแล้วอีกรอบโดยแปรเส้นที่สี่ และจากนั้นก็แปรตรีลักษณ์ล่าง ลำดับการแปรดูจากรูปเลยครับ (เพิ่มอีกหน่อยนะครับ สำหรับคำว่าวิหารนั้น ผมแปลตรงตัวจากคำว่ากง หรือ 宫 ครับ)
ลำดับการแปรเส้นในฉักลักษณ์แบบ 8 วิหาร |
สำหรับแนวตั้งหรือสดมภ์ จะเริ่มด้วยฉักลักษณ์ต้นวิหาร โดยเรียงตามลำดับความหมายครอบครัว ฝ่ายชายเริ่มจากบิดาคือเฉียน(หยางทั้งสามเส้น) บุตรคนโตหรือเจิ้น(หยางเส้นแรก) บุตรคนรองหรือขั่น(หยางเส้นสอง) บุตรคนเล็กหรือเกิ้น(หยางเส้นสาม) ฝ่ายหญิงเริ่มจากมารดาคือคุน(หยินสามเส้น) ธิดาคนโตหรือซวิ่น(หยินเส้นแรก) ธิดาคนรองหรือหลี(หยินเส้นสอง) และธิดาคนเล็กหรือตุ้ย(หยินเส้นสาม) ทำให้ได้ลำดับแนวตั้งเป็น เฉียน เจิ้น ขั่น เกิ้น คุน ซวิ่น หลี ตุ้ย ตามลำดับ
พอเขียนออกมาเป็นแผนภาพลำดับอนุกรมของจิงฝางแล้ว จะได้ดังรูปล่างครับ
แผนภาพลำดับอนุกรมฉักลักษณ์แบบจิงฝาง |
*** ตัวเลขในรูปคือลำดับฉักลักษณ์ของเหวินหวังในคัมภีร์อี้จิงครับ
*** สีของชื่อวิหารทั้งแปดแสดงถึงคุณสมบัติธาตุตามหลักห้าธาตุของวิหารนั้นๆ
อธิบายจากรูปซักเล็กน้อยครับ…
ฉักลักษณ์ในแถวแนวนอนทั้งหมดนั้น ได้ชื่อว่าอยู่ในวิหารเดียวกันโดยขึ้นอยู่กับฉักลักษณ์ต้นวิหาร เช่นฉักลักษณ์ที่ 33 ในรูปก็จะอยู่ในวิหารเฉียนด้วย
ในสดมภ์แนวตั้งนั้น จะแสดงถึงลำดับการแปรเส้น โดยสดมภ์แรกจะเป็นฉักลักษณ์ต้นวิหาร สดมภ์ที่สองนั้นจะเกิดจากการแปรเส้นที่หนึ่งจึงเรียกว่าภพหนึ่ง สดมภ์ที่สามจะเป็นการแปรเส้นที่สองจึงเรียกว่าภพสอง ตามลำดับจนถึงเส้นที่ห้าจะเป็นภพห้า แต่จะไม่แปรเส้นที่หกเนื่องจากจะทำให้ฉักลักษณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นกลายเป็นซ้ำกับฉักลักษณ์ต้นวิหาร(เช่นเฉียนแปรหกเส้นจะเป็นคุน) แต่จะแปรกลับลงมาที่เส้นที่สี่ และแปรสามเส้นล่างตามลำดับ แต่ในสองสดมภ์สุดท้ายนนี้จะมีชื่อที่พิเศษคือจะเรียกว่าวิญญาณท่อง(เที่ยว)กับวิญญาณหวน(คืน) ตามลำดับ
คำว่า ภพ นั้น ผมแปลจากคำว่า 世 หรือ ซื่อ ในภาษาจีน ซึ่งหมายถึงโลกหรือชาติภพ
ส่วนคำว่าวิญญาณนั้นผมแปลจากคำว่า 魂 หรือ หุน ในภาษาจีน โดยชาวจีนเชื่อว่ามนุษย์มีวิญญาณสองส่วน หนึ่งคือ หุน ซึ่งเป็นฝ่ายหยางซึ่งจะเป็นวิญญาณที่จะกลับไปยังสวรรค์หรือแหล่งที่มาเดิม อีกส่วนคือ 魄 หรือ พั่ว ซึ่งเป็นฝ่ายหยิน เป็นวิญญาณซึ่งอยู่กับร่างกายและจะสลายกลายเป็นพลังงานกลับสู่พื้นโลกต่อไป
วิญญาณท่องนั้นจึงหมายถึงเมื่อวิญญาณนั้นล่องลอยไปจากภพที่มา ส่วนวิญญาณหวนนั้นหมายถึงการหวนกลับสู่ภพที่มา…
สรุปนิดนะครับ ฉักลักษณ์มีทั้งหมดแปดกลุ่มหรือแปดวิหารตามฉักลักษณ์ต้นวิหาร โดยแต่ละวิหารจะมีแปดฉักลักษณ์ซึ่งเราจะเรียกชื่อตามลำดับการแปรเส้น
อา…เรียบร้อยครับ เราได้รูปลำดับอนุกรมฉักลักษณ์ของจิงฝางแล้ว…
เมื่อแบ่งเช่นนี้แล้ว เราก็ได้รูปแบบลำดับอนุกรมที่ดูจะต่างไปจากของเหวินหวัง แต่อย่างไรก็ตามลำดับอนุกรมของจิงฝางนี้ก็มีความสัมพันธ์กับลำดับอนุกรมของเหวินหวังอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งลำดับอนุกรมเช่นนี้เองที่จิงฝางใช้ในการอธิบายความหมายฉักลักษณ์ตามระบบแปดวิหาร ซึ่ง…ยาวละครับ ขอไว้ต่อตอนสองนะคร๊าบบ