หลังจากที่ได้เขียนเนื้อหาการก่อเกิดกว้าและแนะนำกว้าเป็นการเบื้องต้นไปแล้ว จาก “อี้จิงพื้นฐาน 1” และ “อี้ จิงพื้นฐาน 2 ว่าด้วย กว้า” ก็มาคิดว่าน่าจะสรุปเนื้อความตามแนวหลักวิชาสายตัวเลขหรือคณิตศาสตร์ซักเล็กน้อย เพื่อให้เห็นการเติบโตของขั้นตอนแบบเป็นตรรกกะ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมเป็นแผนภูมิออกมา
การเคลื่อนไหวของหลักการนั้นเริ่มจากสภาวะ “อู๋จี๋” คือสุญญตา ค่อยก่อเกิดไท่จี๋คือสภาวะอันเป็นหนึ่งขึ้น เรียกว่าอู๋จี๋ก่อเกิดไท่จี๋ ไท่จี๋จึงก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง
อู๋จี๋เปรียบเหมือนเลข 0 ส่วนไท่จี๋เปรียบเหมือนเลข 1
เมื่อไท่จี๋แยกออก ได้เลข 2 คือยิน-หยาง นี่เรียกว่า “ไท่จี๋ก่อสองขั้ว(เหลี่ยงยี่)” ซึ่งตอนนี้ เราจะได้เส้นยินหยางอย่างละเส้น หรือก็คือ 2^1(สองยกกำลังหนึ่ง) เท่ากับ 2 คือเส้นยิน-หยาง
เมื่อเส้นยินหยางสองเส้นมารวมกัน ก็คือ 2^2 = 4 หรือสี่ลักษณ์ ดังคำว่า “สองขั้วก่อสี่ลักษณ์(ซื่อเซี่ยง)”
เมื่อเราเพิ่มเลขยกกำลังขึ้นอีกเป็นเลข 3 คือนำสี่ลักษณ์มาจับคู่กับเส้นยิน-หยางอีก จะได้เส้นยิน-หยางเรียงสามเส้นเป็น 2^3 = 8 ก็คือแปดกว้า ตามที่กล่าวว่า “สี่ลักษณ์ก่อแปดกว้า(ปากว้า)”
สรุปความได้ตามภาพนี้
ขั้นตอนจากไท่จี๋สู่อัฏฐลักษณ์หรือปากว้า
***หมายเหตุ สีดำคือยิน สีขาวคือหยาง
สรุปความคือ “อี้(การเปลี่ยนแปลง)มาจากไท่จี๋เกิดสองขั้วยิน-หยาง สองขั้วก่อสี่ลักษณ์ สี่ลักษณ์เกิดกว้าทั้งแปด(อัฏฐลักษณ์)”
สำหรับขั้นตอนการเกิดนี้อยากให้ทุกท่านนำไปพิจารณาถึงลำดับและกลุ่มความเป็นยินหยางด้วยนะครับ และทั้งหมดนี้คือการสรุปคุณสมบัติอย่างย่อๆครับ รายละเอียดลึกๆก็คงต้องศึกษากันต่อไป…