อี้จิงพื้นฐาน ว่าด้วยไท่จี๋และยินหยาง
- 23/09/2016
- Posted by: Liang
- Category: ความรู้พื้นฐาน

อันว่าวิชาอี้เสวี่ยหรืออี้ศึกษาที่เรียกทั่วไปว่าอี้จิงนั้นคือศาสตร์ที่ว่าด้วยพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของ สรรพ สิ่งที่เขียนออกมาในรูปของสัญลักษณ์หรือลายเส้น และการอธิบายหลักวิชาของอี้เสวี่ยนั้นเต็มไปด้วยตรรกะ และสอดคล้องกับรูปแบบการอธิบายในหลายๆ สาขาวิชาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่าง ไม่น่าเชื่อ!!
ในแง่ของการพิจารณานั้นสามารถกระทำจากทุกระดับ แต่โดยทั่วไปแล้วจะพิจารณาและอธิบายจากระดับเล็กไปหาใหญ่เพื่อเป็นที่เข้าใจได้ง่าย
พื้นฐานเริ่มต้นของสรรพสิ่งนั้นเชื่อว่ามาจากสุญตาหรือความว่าง เป็นสภาวะอันว่างเปล่าหาที่สุดไม่ได้ สภาวะนี้ถูกเรียกว่า “อู๋จี๋”
จากอู๋จี๋ได้ค่อยๆก่อเกิดสภาวะแห่งความมีหรือเต็มเปี่ยมอันหาที่สุดไม่ได้ คือสภาวะแห่งความเป็นหนึ่งเดียว นี่เรียกว่า “ไท่จี๋”
รูปภาพสัญลักษณ์ “ไท่จี๋”
จากไท่จี๋นั้นยังเกิดการเปลี่ยนแปลงออกไปอีกเป็นสภาวะแห่งความเป็นคู่ตรงข้ามกัน เรียกว่า “เหลี่ยงยี่”
และวิชาอี้เสวี่ยนั้นก็มีพื้นฐานมาจากการพิจารณาสรรพสิ่งในเชิงทวิหรือ ความ เป็นคู่อันตรงข้ามกันนี้เอง เช่น กลางวัน-กลางคืน, ผู้ชาย-ผู้หญิง, ดี-ชั่ว, ขาว-ดำ, ต่ำ-สูง, สว่าง-มืด, เกิด-ตาย, บน-ล่าง, เหลือง-แดง(อันนี้ไม่ช่ายย) ฯลฯ คู่ตรงข้ามต่างๆนี้ถูกเรียกว่า ยิน และ หยาง
ยินเป็นตัวแทนของด้าน มืด, เย็น, ผู้หญิง, ความชั่ว, กลางคืน, พระจันทร์, ตาย, สิ้นสุด, ลบ เป็นต้น มันคือตัวแทนของสรรพสิ่งที่คล้ายกันนี้
หยางเป็นตัวแทนของด้าน สว่าง, ร้อน, ชาย, ความดี, กลางวัน, พระอาทิตย์, เกิด, เริ่มต้น, บวก เป็นต้น และมันคือตัวแทนของสรรพสิ่งที่คล้ายกันนี้
เมื่อเราพิจารณาแล้วจะพบว่าในสรรพสิ่งนั้นถือเอาพื้นฐานแห่งคู่ตรงข้าม เป็นการแบ่งพื้นฐานเบื้องต้นตามหลัก ยิน-หยาง นี้ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน
ในสมัยที่หลักวิชาการเปลี่ยนแปลงหรืออี้ถูกสร้างขึ้นมานั้นยังไม่มีภาษา หลักแห่งคู่ตรงข้ามนี้จึงถูกเขียนเป็นรูปสัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นลายเส้น 2 ลักษณะ เรียกว่า เหยา (爻) หรือลายลักษณ์ คือเส้นเต็ม และเส้นขาด โดยเส้นเต็มแทนด้วยฝ่ายหยาง ส่วนเส้นเต็มแทนด้วยฝ่ายยิน ดังนี้
เส้นเต็ม หรือเส้นหยาง ในวิชาอี้เสวี่ยมันถูกเรียกว่าเส้น 9 เนื่องจากเลข 9 เป็นตัวแทนของหยางนั่นเอง
เส้นขาด หรือเส้นยิน ในวิชาอี้เสวี่ยมันถูกเรียกว่าเส้น 6 เนื่องจากเลข 6 เป็นตัวแทนของหยางนั่นเอง (*จริงๆแล้วคำนี้อ่านว่ายินตามภาษาจีนกลาง แต่คนไทยนิยมอ่านว่า “หยิน” แต่ทั้งนี้ผมขอยึดตามสำเนียงที่ถูกต้องนะครับ)
เมื่อได้สองเส้นนี้มา มันก็คือคำอธิบายพื้นฐานความเป็นคู่ของสรรพสิ่ง เพียงแต่ว่าแม้ทุกสิ่งสามารถถูกจัดอยู่ในด้านของคู่ตรงข้ามได้ แต่แท้จริงแล้วสรรพสิ่งนาๆแตกต่าง โลกก็ใช่ว่ามีแต่ดีชั่วขาวดำ(หรือเหลืองแดง แต่ยังมีสีเขียวด้วย…ล้อเล่น) บางครั้งสิ่งต่างๆก็ซับซ้อนลงไปในรายละเอียด การเปลี่ยนแปลงของเส้นยิน-หยางจึงได้เกิดขึ้นตามความสอดคล้องกับกฏธรรมชาติ และเมื่อพิจารณาการจับคู่ยิน-หยางขึ้น ก็พบการเปลี่ยนแปลงอยู่ 4 แบบ ซึ่งถูกเรียกว่าลักษณะทั้ง 4 หรือสี่ลักษณ์ ภาษาจีนเรียกว่า “ซื่อเซี่ยง” โดยมีรูปแบบดังนี้
ลักษณะเส้นเต็มจับคู่กันเรียกว่าสภาวะ “หยางอย่างยิ่ง” หรือ “ไท่หยาง”
ลักษณะเส้นเต็มอยู่บนแล้วลดหายเป็นเส้นขาดเรียกว่า “สภาวะหยางพร่อง” หรือ “เส้าหยาง” (<<<เส้าแปลว่า จำนวนน้อย)
ลักษณะเส้นขาดจับคู่กันเรียกว่าสภาวะ “ยินอย่างยิ่ง” หรือ “ไท่ยิน”
ลักษณะเส้นขาดอยู่บนแล้วลดหายเป็นเส้นเต็มเรียกว่า “สภาวะยินพร่อง” หรือ “เส้ายิน”
ในแง่ของลักษณะทั้ง 4 นี้ได้แสดงถึงสภาวะของการเปลี่ยนแปลงและรวมตัวของเส้นยิน-หยาง มันได้แสดงการเพิ่มขึ้นและลดน้อยลงของยินและหยาง และเกิดปรัชญาที่ว่าเมื่อยินเพิ่มมากถึงที่สุดแล้วมันก็จะกลับเปลี่ยนเป็น หยาง และเมื่อหยางที่สุดก็กลับเปลี่ยนเป็นยิน ดังในทางพุทธศาสนานั้น “ทางอัน สุดโต่ง” ก็เป็นเช่นเดียวกัน เช่นการขยันทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การขยันอย่างเดียวโดยไม่พักผ่อนนั้น ท้ายที่สุดแล้วร่างกายก็ทนไม่ไหวและเกิดล้มป่วย สุดท้ายก็เปลี่ยนตรงข้ามคือต้องพักผ่อนและไม่สามารถทำงานได้ในท้ายที่สุด อยู่ดี คือยิน-หยางสุดขั้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นตรงข้าม ดังนั้นที่ดีควรเดินตามทางสายกลาง คือยิน-หยางไปด้วยกัน มีทำงานก็ต้องมีพักผ่อนบ้าง เป็นต้น