หลัก 5 ธาตุถือว่าเป็นหลักการที่แสดงแนวคิดและความเชื่อแบบจีนผ่านทางวัฒนธรรมจีนมาช้านาน สามารถกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีศาสตร์ใดๆของจีนที่ไม่อิงหลัก 5 ธาตุ ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์, พยากรณ์, แพทยศาสตร์, ศิลปะการต่อสู้, การดนตรี, ฮวงจุ้ย, โหงวเฮ้ง, เวชศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมาย ในการศึกษาศาสตร์วิชาการทำนายหรือพยากรณ์นั้นพึงต้องทำความเข้าใจ หลัก 5 ธาตุให้ได้อย่างถ่องแท้เช่นกัน และที่สำคัญที่สุดคือ 5 ธาตุยังมีความสัมพันธ์กับหยินหยางและอัฏฐลักษณ์อีกด้วย
การศึกษาเรื่องของ 5 ธาตุนั้น พึงอย่าได้สับสนกับเรื่องของคุณสมบัติของธาตุตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือแม้แต่แนวคิดเรื่องธาตุมูลฐานเช่นในศาสนาพุทธอย่าง ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ เนื่องจากหลักเรื่อง 5 ธาตุนั้นไม่ใช่ทั้งเรื่องของธาตุทางวัตถุหรือสสารอย่างในวิชาวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่เรื่องขององค์ประกอบมูลฐานของสสารหรือพลังงานอย่างในเรื่องของธาตุสี่ แต่เป็นแนวคิดหรือตัวแทนทางด้านหลักการ หรือก็คือเป็นธาตุทางนามธรรมที่ใช้วัตถุธาตุทั้งห้าเป็นตัวแทนเพื่อแสดง คุณสมบัติและความสัมพันธ์กันระหว่างธาตุที่กำหนด ดังนั้น เช่นในธาตุทองนั้นจะไม่ได้หมายถึงทองจริงๆ อย่างเดียว แต่หมายถึงคุณสมบัติของสิ่งต่างๆที่ได้จัดกลุ่มและอิงคุณสมบัติของธาตุทองที่ได้กำหนดไว้ เช่น โลหะ, ปอด, คนที่เป็นลักษณะธาตุทองหรือเกิดยามเวลาอันเป็นธาตุทอง, ฤดูใบไม้ร่วง, ยามเวลาเซินและโหย่ว, สีขาว เป็นต้น ดังนั้นจึงขอให้เข้าใจว่า 5 ธาตุนั้นคือโมเดลที่แสดงหลักการทางความคิดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่วัตถุธาตุจริงๆในธรรมชาติ
ธาตุทั้งห้านั้นมี ทอง, น้ำ, ไม้, ไฟ และดิน ซึ่งทองหมายถึงโลหะซึ่งเป็นวัตถุธาตุที่มีความแข็งแกร่ง น้ำมีคุณสมบัติเย็นและไหลได้ ไม้มีคุณสมบัติด้านการเติบโตและยืดยาว ไฟมีคุณสมบัติร้อนและเป็นพลังงาน ส่วนดินมีคุณสมบัติด้านความหนักแน่นมั่นคงเป็นปึกแผ่น ธาตุทั้งห้านั้นมีปฏิกิริยาต่อกันได้สามทาง คือ ก่อเกิด, ข่ม และลดทอน ซึ่งทั้งสามทางนั้นต่างเป็นวงจรที่หมุนเวียนระหว่าง 5 ธาตุ ดังนี้
วัฏจักรก่อเกิด-ข่มของ 5 ธาตุ
ปฏิกิริยาแบบก่อเกิด เป็นปฏิกิริยาแบบเสริมสร้างหรือก่อเกิดแสดงโดยเส้นโค้งในรูปบน ได้แก่
– ดินก่อเกิดทอง เนื่องจากดินเป็นแหล่งกำเนิดแร่ธาตุต่างๆและแร่โลหะ
– ทองก่อเกิดน้ำ เนื่องจากทองสามารถหลอมละลายเป็นของเหลวได้
– น้ำก่อเกิดไม้ เนื่องจากน้ำสามารถเลี้ยงต้นไม้ได้
– ไม้กำเนิดไฟ เนื่องจากไม้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับไฟ
– ไฟกำเนิดดิน เนื่องจากเมื่อเผาผลาญสิ่งต่างๆเป็นธุลีแล้วย่อมกลับเป็นดินต่อไป
ปฏิกิริยาแบบข่ม เป็นปฏิกิริยาแบบข่มหรือควบคุมหรือทำลายแสดงโดยเส้นตรงในรูปบน ได้แก่
– ทองข่มไม้ เนื่องจากโลหะสามารถตัดทำลายไม้ได้
– ไม้ข่มดิน เนื่องจากรากไม้สามารถทำลายดินให้แตกแยกและดูดซับอาหารในดินได้
– ดินข่มน้ำ เนื่องจากดินสามารถเก็บกักและกั้นการไหลของน้ำได้
– น้ำข่มไฟ เนื่องจากน้ำสามารถดับไฟได้
– ไฟข่มทอง เนื่องจากไฟสามารถหลอมทองหรือโลหะได้
ปฏิกิริยาแบบลดทอน เป็นปฏิกิยาแบบกลับของปฏิกิริยาแบบก่อเกิด คือเมื่อดินก่อเกิดทอง ดินย่อมมีพลังน้อยลง เมื่อทองก่อเกิดน้ำ ทองย่อมมีพลังน้อยลง เป็นต้น ดังนั้นปฏิกิริยาแบบนี้จึงเป็นวงจรที่ย้อนกลับ คือทองแปรสภาพดิน, ดินทอนกำลังไฟ, ไฟเผาผลาญไม้, ไม้ดูดซับน้ำ และน้ำกร่อนทอง
เมื่อเข้าใจปฏิกิริยาของธาตุทั้ง 5 แล้ว เราจะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของคุณสมบัติของธาตุทั้ง 5 และความสัมพันธ์กับกว้าทั้ง 8 ในบทต่อๆไป…