ตอนแรกคิดว่าจะเขียนเนื้อหาวิชาต่อ เพราะช่วงหลังลงเรื่องอ้อมไปเยอะ แต่อยู่ๆก็คิดได้ว่าผมยังไม่ได้ลงเรื่องพื้นฐานอีกเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ก็เลยขอลงเรื่องนี้ให้เสร็จกันก่อนละกันนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ นั่นคือ “วิธีและขั้นตอนการขึ้นกว้าด้วยการเสี่ยงทาย” นั่นเองครับ
จริงๆแล้วการเสี่ยงทายเพื่อขึ้นกว้าหรือตั้งฉักลักษณ์ในอี้จิงนั้นส่วนใหญ่มีสองประเภท หนึ่งคือการใช้ไม้ติ้ว สองคือการใช้เหรียญเสี่ยงทาย(บางครั้งจะเขย่าเหรียญในกระดองเต่า แต่จริงๆเขย่าในมือก็เหมือนกันครับ แต่เขย่าในกระดองเต่าได้ออกทีวีนะเออ) ซึ่งวิธีไม้ติ้วนั้นไม่ค่อยสะดวกนักสำหรับยุคสมัยนี้แต่แท้จริงแล้วก็มีข้อดีของตัวเองซึ่งผมจะลงรายละเอียดในครั้งหน้าตอนว่าด้วยเรื่องเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้วละกันครับ สำหรับครั้งนี้ผมขอเขียนถึงวิธีที่ง่าย, สะดวก และได้รับความนิยมนั่นก็คือวิธีเสี่ยงทายด้วยเหรียญนั่นเองครับ
การเสี่ยงทายด้วยเหรียญนั้นเป็นวิธีที่ใช้เสี่ยงทายเพื่อทำนายสำหรับวิธีทำนายหลายๆวิธีครับ ทั้งการเสี่ยงทายเพื่อได้ฉักลักษณ์และเปิดคัมภีร์อี้จิงเพื่อเทียบความหมาย หรือจะเป็นการเสี่ยงทายเพื่อใช้ทำนายในวิชาทำนายหกเส้นหรือลิ่วเหยา ต่างก็ใช้การเสี่ยงทายด้วยเหรียญได้ทั้งสิ้น(นอกจากวิชาอี้จิงดอกเหมยนะครับ เพราะจะใช้การตั้งฉักลักษณ์โดยตัวเลข วันเวลา และเหตุการณ์ แต่จะไม่ใช้การเสี่ยงทายใดๆมาช่วย)
การเสี่ยงทายคือการสร้างเหตุเพื่อทำนาย เอาการเสี่ยงทายมาหาผลเพื่อทำนาย วิธีนี้ไม่ใช่การดูดวงคือไม่ใช้วันเดือนปีเกิดของคน แต่ใช้แค่ผลจากการเสี่ยงทายมาเป็นตัวแปลคำทำนาย ดังนั้นจึงน่าสนใจตรงที่เราสามารถทำนายได้ทุกเรื่องที่อยากรู้โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของดวงชะตาของตัวเองเลย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการผลของเสี่ยงทายเป็นสิ่งที่แปรผันขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเสี่ยงทายเองซึ่งต่างกับการดูดวงที่ดูจากวันเดือนปีเกิดที่กำหนดแน่นอน ดังนั้นวิธีและขั้นตอนการเสี่ยงทายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดและหากมีความผิดพลาดใดเกิดขึ้นก็จะทำให้ผลการทำนายนั้นผิดพลาดไปด้วยเลยทีเดียวครับ
โดยส่วนตัวนั้นผมมีความรู้ในวิธีเสี่ยงทายด้วยเหรียญอยู่หลายวิธีจากต่างกรรมต่างวาระ ทำให้พัฒนาความรู้ตามมาเรื่อยๆ ผมเลยคิดว่าจะเขียนอย่างไรเพื่อสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามผมได้ง่ายและสนุก คิดไปคิดมาผมเลยคิดว่าผมจะเรียบเรียงแบบเป็นลำดับขั้นตอนเหมือนที่ตัวผมได้เรียนรู้มาเลยละกันนะครับ เราจะได้พัฒนาและทำความเข้าใจไปพร้อมกันครับ โดยผมจะเน้นไปที่รูปแบบการตีความหมายจากหน้าเหรียญที่ได้จากการเสี่ยงทายออกมาก่อน แล้วค่อยเอาไปรวมสรุปกับขั้นตอนการเสี่ยงทายที่ต้องกระทำนะครับ
สำหรับความรู้ด้านการโยนเหรียญเสี่ยงทายนั้น ครั้งแรกๆผมได้ความรู้จากหนังสืออี้จิงที่แปลเป็นภาษาไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่แปลจากภาษาอังกฤษครับ และมักจะมีหลายวีธีที่ไม่ใช่วิธีที่สอดคล้องกับวิธีดั้งเดิมซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ แต่เมื่อครั้งแรกๆนั้นผมได้เรียนรู้วิธีเสี่ยงทายด้วยเหรียญ 3 เหรียญด้วยครับ ซึ่งสอดคล้องตามวีธีแบบต้นตำรับดั้งเดิม ซึ่งเทียบเคียงกับตำราส่วนใหญ่(ภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ครับ)แล้วก็พบว่าส่วนใหญ่ใช้วิธีเสี่ยงทายแบบเดียวกันนี้ ผมก็เลยใช้วีธีนี้ตลอดมานับสิบๆปีครับ ซึ่งวิธีนี้มีกระบวนการดังนี้ครับ (ผมขอเขียนกระบวนการตรงๆง่ายๆตามที่ได้อ่านมาจากครั้งกระนั้นเลยก่อนนะครับ)
- หาเหรียญขนาดเท่ากันมา 3 เหรียญ กำหนดให้ด้าน “หัว” เป็นหยาง และด้าน “ก้อย” เป็นหยิน
- วางเหรียญทั้ง 3 ในอุ้งมือ และทำการเขย่าเหรียญในอุ้งมือโยนออกมาและแปลความหมายดังนี้
– ถ้าเหรียญเป็นหัวทั้ง 3 เหรียญ ให้เป็นเส้น “เหล่าหยาง” หรือ “หยางแก่” แล้วทำการจดเส้นหยางหรือเส้นเต็มไว้ โดยทำการวงกลมไว้ข้างๆเพื่อแสดงว่าเป็นเส้นหยางแก่ ▅▅▅▅▅ O
– ถ้าเหรียญออกมาเป็น หัวหนึ่งเหรียญ และก้อยสองเหรียญ ให้เป็นเส้น “หยาง” แล้วทำการจดเส้นหยางไว้ ▅▅▅▅▅
– ถ้าเหรียญออกมาเป็นก้อยทั้ง 3 เหรียญ ให้เป็นเส้น “เหล่าหยิน” หรือ “หยินแก่” และจดเส้นหยินหรือเส้นขาดไว้พร้อมกับกากบาทไว้เพื่อแสดงว่าเป็นหยินแก่ ▅▅ ▅▅ X
– ถ้าเหรียญออกมาเป็น หัวสองเหรียญ ก้อยหนึ่งเหรียญ ให้เป็นเส้น “หยิน” แล้วจดเส้นหยินไว้ ▅▅ ▅▅ - ทำการโยนเหรียญเช่นนี้ทั้งหมด 6 ครั้ง จนได้เส้นครบหกเส้น โดยการจดเส้นนั้นจะจดจากเส้นล่างสุดขึ้นไปบนสุด ดังนั้นการโยนครั้งที่หนึ่งจะเป็นเส้นแรกหรือเส้นที่หนึ่ง แล้วก็จดขึ้นไปจนถึงเส้นที่เกิดจากการโยนเหรียญครั้งที่หกซึ่งจะเป็นเส้นที่หกคือเส้นบนสุด
- ในเวลาทำนายนั้น สำหรับเส้นที่เป็น “เหล่าหยาง” จะเป็นเส้นที่เป็นหยางเต็มที่ก็เลยจะเปลี่ยนเป็นหยิน ส่วนเส้น “เหล่าหยิน” จะเป็นเส้นที่เป็นหยินเต็มที่ก็เลยจะเปลี่ยนเป็นหยาง ดังนั้นหลังจากได้ฉักลักษณ์ต้นแล้ว ก็ให้ทำการเปลี่ยนเส้นดังกล่าวนี้เป็นตรงข้าม จะได้ฉักลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่า “ฉักลักษณ์เปลี่ยน” ขึ้นมาอีกตัว
เอาล่ะ อย่าเพิ่งงงครับ อ่านคร่าวๆไปก่อน เพราะเราจะต้องต่ออีกยาว เดี๋ยวผมจะสรุปขั้นตอนอีกครั้งจนเข้าใจแจ่มแจ้งแน่นอนครับ
ต่อกันครับ สำหรับวิธีตีความจากหน้าเหรียญแบบนี้มันดูแจ่มแจ้งชัดเจนมากครับ และสอดคล้องกับหลักแห่งการเปลี่ยนแปลงของหยินหยางด้วย คือหยินที่สุดจะกลายเป็นหยาง หยางที่สุดจะกลายเป็นหยิน และต่อมาผมได้รับคำอธิบายที่สอดคล้องอย่างเหมาะสมกับวิธีข้างต้นด้วยครับ(จากหนังสือฝรั่ง) โดยให้ในการเสี่ยงทายนั้น ด้านหัวคือด้านหยางให้แทนด้วย 3 ซึ่งเป็นเลขคี่ เป็นเลขหยาง และด้านก้อยเป็นเลข 2 เป็นเลขคู่ เป็นเลขหยิน ผลที่ได้จึงสอดคล้องกันคือ
- ได้หัวสามเหรียญ คือ 3+3+3 = 9 ซึ่ง 9 คือเลขหยางที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับในคัมภีร์โจวอี้ที่เรียกเส้นหยางว่าเส้นเก้านั่นเอง จึงได้ผลเป็นเส้นหยางแก่ ▅▅▅▅▅ O
- ได้หัวหนึ่งเหรียญ ก้อยสองเหรียญ คือ 3+2+2 = 7 ซึ่งเป็นเลขคี่คือเลขหยาง จึงได้เส้นหยาง ▅▅▅▅▅
- ได้ก้อยทั้งสามเหรียญ ได้ 2+2+2 = 6 ซึ่งเป็นเลขคู่ เป็นเลขหยินที่สุด ซึ่งตามคัมภีร์โจวอี้จะเรียกเส้นหยินว่าเส้นหก ผลที่ได้ออกมาจึงเป็นเส้นหยินแก่ ▅▅ ▅▅ X
- ได้หัวสองเหรียญ ก้อยหนึ่งเหรียญ ได้ 2+3+3 =8 เป็นเลขคู่หรือหยิน จึงได้เป็นเส้นหยิน ▅▅ ▅▅
อยากจะให้สังเกตุการเปลี่ยนแปลงจากหยางเป็นหยางแก่จะเป็นการเพิ่มขึ้นของเลขคี่(จาก 7 เป็น 9) ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นหยินเป็นหยินแก่จะเป็นการลดลงของเลขคู่(จาก 8 เป็น 6) ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของหยินหยางครับ ดังนั้นนี้กับวิธีข้างต้นจึงเป็นวิธีเดียวกันและสอดคล้องกัน ทั้งยังอธิบายหลักหยินหยางได้อย่างดีครับ
เมื่อก่อนตอนผมยังอยู่กับอาจารย์มวยจีน ท่านไม่ได้แนะนำเรื่องการเสี่ยงทายเหรียญ แต่ท่านจะสอนปรัชญาของโจวอี้และหลักการเปลี่ยนแปลงในอัฏฐลักษณ์เป็นหลัก ผมเองก็ไม่ได้เอ่ยถามเรื่องการโยนเหรียญ ดังนั้นผมจึงใช้วิธีนี้ตลอดมา จนภายหลังการโยนเหรียญนี้ก็ถูกสั่นคลอนด้วยความรู้ใหม่ๆ เมื่อผมไปเรียนคอร์สสั้นๆของวิชาทำนายหกเส้นที่จีน ผมได้พบว่าที่นั่นใช้วิธีที่ตรงข้ามสำหรับการเสี่ยงทายด้วยเหรียญนี้ แต่ผมเองก็ไม่ได้สนใจมากนักและคิดเพียงว่าน่าจะเป็นวิธีต่างกันเท่านั้น จนกระทั่งผมถูกสั่นคลอนด้วยตำราจีนทั้งหมด ทั้งตำราใหม่และตำราโบราณจนต้องมานั่งใคร่ครวญว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิดอีกครั้ง…
สำหรับวิธีของจีนที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้นั้น ผมจะใช้การแปลตรงๆและเรียกตรงๆตามแบบจีนไปด้วยนะครับ และเพื่อให้เห็นความชัดเจนผมจะใช้รูปเหรียญมาประกอบด้วยครับ ดังนี้ครับ
1. ชาวจีนจะใช้เหรียญจีนครับ ซึ่งเป็นเหรียญกลมเจาะรูสี่เหลี่ยม กลมแทนหยาง เหลี่ยมแทนหยิน หนึ่งแทนสวรรค์หนึ่งแทนโลก
2. ชาวจีนจะเรียกด้านที่มีตัวอักษรว่า “เจิ้ง” หรือด้านตรง ซึ่งตรงกับด้านหัวของเหรียญปัจจุบันทั่วไปครับ และให้ด้านนี้เป็นด้านหยาง ส่วนด้านที่ไม่มีตัวอักษร(มีลายยึกยือภาษาแมนจู) เรียกว่า “เป้ย” หรือด้านหลัง ซึ่งก็ตรงกับด้านก้อยนั่นเองครับ และให้ด้านนี้เป็นหยิน
3. ถ้าเหรียญออกมาเป็นด้าน “หลัง” หรือด้านหยิน 3 เหรียญ ดังรูปล่าง ผลคือได้เส้นหยางแก่(ซะงั้น) โดยได้ให้เหตุผลว่าการที่เหรียญเป็นหยินทั้งหมดนั้นคือหยินที่สุดแปรเป็น หยาง จึงได้เส้นหยาง แต่เส้นหยางนี้จะแปรเป็นหยินในภายหลัง ก็เลยได้เส้น ▅▅▅▅▅ O
“หลัง” ทั้งสามเหรียญเป็นเส้นหยางแก่ |
4.ถ้าเหรียญออกมาเป็นด้าน “เจิ้ง” หรือด้านหยาง 2 เหรียญ และได้ด้าน “หลัง” หรือด้านหยิน 1 เหรียญ ดังรูปล่าง จะได้เป็นหยาง เพราะมีด้านหยางสอง หยินหนึ่ง แสดงว่าหยางมากกว่าเลยได้หยางเขียนเป็นเส้นเต็ม ▅▅▅▅▅
“หลัง” หนึ่ง “ตรง” สอง เป็นหยาง |
5. ถ้าได้ด้าน “เจิ้ง” หรือด้านตรง หรือก็คือหยาง ทั้ง 3 เหรียญ ดังรูปล่าง จะได้เป็นหยินแก่ ด้วยเหตุผลว่าหยางทั้งสามเหรียญคือหยางที่สุดแปรเป็นหยิน แล้วเส้นหยินนี้ค่อยแปรกลับเป็นหยางในภายหลังครับ เลยได้ผลเป็น ▅▅ ▅▅ X
“ตรง” สามเหรียญเป็นหยิน |
6. ถ้าได้ด้าน “เป้ย” หรือด้านหลังสองเหรียญ ได้ด้านตรงหนึ่งเหรียญ ตามรูปล่าง คือได้ด้านหยินสองเหรียญได้ด้านหยางหนึ่งเหรียญ จะได้ผลเป็นหยิน เพราะหยินมากกว่าหยางนั่นเองครับ ได้เส้น ▅▅ ▅▅
“หลัง” สอง “ตรง” หนึ่ง เป็นหยิน |
เอาล่ะครับ งงมั้ยล่ะครับ? ผมเองยังงงเลยว่าทำไมวิธีมันได้ผลตรงกันข้ามล่ะ ทั้งๆที่การกำหนดด้านหยินหยางก็เหมือนกันแท้ๆ แต่ทำไมถึงกำหนดผลตรงข้ามกันอย่างนี้…
(แต่ตอนหลังหายงงแล้วล่ะครับ….)
ช่วงแรกๆนั้น ด้วยความไม่เข้าใจในวิธีจีนหรือวิธีหลังนี้ ผมก็เลยไม่ได้ใช้แต่ยังใช้วิธีเดิมของผม(วิธีบนสุด) ซึ่งผมเข้าใจได้มากกว่า จนกระทั่งผมเริ่มสับสนเมื่ออ่านตำราจีนหลายๆเล่มซึ่งใช้วิธีแบบหลังสุดนี้ทั้งนั้น เมื่อมีความลังเลและความสับสนเกิดขึ้น การทำนายบ่อยครั้งก็มั่วและสับสนด้วย เพื่อตัดปัญหาผมจึงซื้อเหรียญจีนจากจีนมาใช้ แล้วก็หันมาใช้วิธีหลังคือวิธีแบบจีนไปเลย เพราะจะได้ไม่สับสนเมื่ออ่านตำราโบราณต่างๆ รวมทั้งหนังสือจีนที่มี และเพื่อความสบายใจส่วนตัวด้วยครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าไม่ว่าวิธีไหนนั้นผลขึ้นอยู่กับเราผู้เป็นผู้เสี่ยงทายเป็นผู้กำหนดไว้ และผลที่ได้ค่อยออกมาตามนั้น ดังนั้นถ้าถามผมแล้วผมพบว่าไม่ว่าจะวิธีเดิมที่ใช้มาเป็นสิบปีก็มีความแม่นยำเช่นเดียวกันกับวิธีใหม่จากตำราโบราณจีนเช่นกัน ขอเพียงแต่ใช้เพียงวิธีเดียวไม่สับสนก็พอ แต่ผมมาใช้วิธีหลังเพราะต้องการความสบายใจ ไม่อยากขัดตำราโบราณมากกว่าครับ
ดังนั้นอ่านทั้งหมดไปแล้วก็เลือกใช้แค่วิธีเดียวให้ชัดเจนนะครับ ที่ผมเขียนเนื้อหาทั้งหมดนั้นเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ค้นคว้าแล้วอาจจะเจอปัญหาว่าหนังสือแต่ละเล่มใช้วิธีเสี่ยงทายต่างกันครับ เผื่อมาอ่านที่นี่จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมไปด้วยว่าทำไมแต่ละเล่มถึงต่างกัน
เอาล่ะครับ เมื่อเราได้รู้จักวิธีต่างๆไปแล้ว ผมอยากมาขอสรุปการเสี่ยงทายด้วยเหรียญทั้งหมดด้วยขั้นตอนทั้งหมดเพื่อการนำไปใช้งานกันเลยนะครับ
ก่อนจะเสี่ยงทายหรือโยนเหรียญนั้น ผู้ทำการเสี่ยงทายควรจะชำระร่างกายให้สะอาด(หากทำได้) มีจิตใจที่นิ่งสงบและตั้งมั่นอยู่ที่การหาคำตอบจากการเสี่ยงทายและไม่ถูกกระทบหรือรบกวนจากเรื่องอื่นใด ก่อนจะถามคำถามใดๆให้พิจารณาถึงเรื่องที่ถามอย่างถ้วนถี่ พึงตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องที่ถามและไม่ควรถามเพื่อเสี่ยงทายเล่นๆ หรือด้วยคำถามที่ไม่จริงจัง
แต่ละครั้งพึงตั้งคำถามให้แน่นอนก่อนทำนาย และหนึ่งเรื่องควรทำการเสี่ยงทายเพียงครั้งเดียว ไม่พึงเสี่ยงทายซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นจึงควรตัดสินใจชัดเจนก่อนถาม หากก่อนถามทำการนั่งสมาธิก่อนสักครู่จะดีมาก เวลาที่ถามควรอยู่ในสภาพที่จิตใจแจ่มใส ยามรีบเร่งหรือโมโหไม่ควรเสี่ยงทาย และไม่ควรเสี่ยงทายในเวลายามจื่อ(23.00 – 0.1.00 น.) เพราะเป็นช่วงเวลาระหว่างเปลี่ยนวันเก่าเข้าวันใหม่ เป็นช่วงที่หยินหยางสับสนวันเดือนไม่ชัด ชาวจีนเชื่อว่าธรรมชาติมีผลต่อคนเราเฉกเช่นฤดูมีผลต่อสรรพสัตว์และต้นไม้ใบหญ้า ดังนั้นเวลาก็ย่อมมีผลต่อการทำนายเช่นกัน
นอกจากนี้ผู้เสี่ยงทายพึงน้อมนำหลักแห่งวิชามาใช้ สำหรับโจวอี้ใช้หลักแปรเปลี่ยนในธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรน้อมจิตนำหลักแห่งการเปลี่ยนแปลงมาแสดงในการทำนายเพื่อเป็นตัวแสดงผล นอกจากนี้พึงต้องน้อมรำลึกถึงครูบาอาจารย์ บูชาปรมาจารย์ของวิชาเช่นฝูซีและโจวเหวินหวังเป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มทำการเสี่ยงทายและหาคำทำนายครับ โดยขั้นตอนต่อไปนี้ครับ
- นำเหรียญ 3 เหรียญขนาดเท่ากัน ใส่ในอุ้งมือหรือกระดองเต่า โดยผู้เสี่ยงทายต้องทำการกำหนดด้านหยินหยางด้วยตัวเองให้ชัดเจนอย่าได้สับสน จากนั้นทำการเขย่าเหรียญโดยให้เหรียญมีการเคลื่อนไหวโดยไม่ติดกัน แล้วจึงทำการโยนออกมาในพื้นราบหรือบนโต๊ะ ระวังอย่าโยนแรงจนเหรียญกระจายกลิ้งไปไกล พึงให้เหรียญออกมาตรงหน้าของผู้เสี่ยงทายเอง
- ทำการจดความหมายเส้นตามวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้น โยนเหรียญครั้งแรกให้จดไว้เป็นเส้นล่างสุด โยนครั้งที่สองให้เขียนเส้นไว้บนเส้นแรก ทำทั้งหมดหกครั้งจนได้เส้นที่หกอยู่บนสุด
- เมื่อได้ครบหกเส้นแล้วก็จะได้ฉักลักษณ์ที่เรียกว่า “ฉักลักษณ์ต้น” พร้อมด้วยเส้นเคลื่อนไหวหรือก็คือเส้นหยางแก่หรือหยินแก่นั่นเอง ให้นำฉักลักษณ์ที่ได้ไปใช้แปลความหมายตามวิชาที่ใช้ ถ้าใช้คัมภีร์โจวอี้ตรวจสอบคำตอบก็ให้ไปเปิดตำราหน้าที่มีฉักลักษณ์ตรงกัน แล้วอ่านความหมายฉักลักษณ์ พร้อมทั้งความหมายของเส้นเคลื่อนไหวหรือเส้นหยางแก่-หยินแก่ ที่ได้ด้วย
- จากนั้น ให้ทำการเปลี่ยนเส้นเคลื่อนไหวเป็นเส้นตรงข้าม โดยเปลี่ยนจากเส้นหยินแก่เป็นเส้นหยาง และเปลี่ยนเส้นหยางแก่เป็นเส้นหยิน เราจะได้ฉักลักษณ์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “ฉักลักษณ์เปลี่ยน” ให้นำฉักลักษณ์ใหม่ที่ได้ไปใช้ร่วมกับการทำนายด้วย ถ้าใช้โจวอี้ก็ให้เปิดดูความหมายของฉักลักษณ์เปลี่ยนนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นการทำนายเหตุการที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลง หรือก็คือผลสุดท้ายของเรื่องนั่นเอง ซึ่งเรื่องอาจจะเปลี่ยนจากดีเป็นร้าย หรือร้ายเป็นดีก็ได้ครับ
- เมื่อเสร็จแล้วก็ให้เก็บเหรียญไว้ในที่ๆเหมาะสม ควรใช้เหรียญเพื่อการทำนายเท่านั้นไม่ควรนำไปใช้เล่นอย่างอื่น นอกจากยามคับขันสามารถใช้เหรียญทั่วไปที่มีในกระเป๋ามาใช้แทนได้
เอาล่ะครับ เพื่อไม่งง เราจะมายกตัวอย่างกันดูครับ
สมมติผมอยากได้คำแนะนำเรื่องการเดินทาง ผมก็ตั้งคำถามขึ้นในใจ รวบรวมสมาธิสักครู่ แล้วโยนเหรียญออกมา สมมติผมใช้วิธีหลังสุดคือใช้เหรียญจีนแล้วได้ผลดังนี้
ครั้งที่ 1 ได้ ด้านหยางสอง ด้านหยินหนึ่ง ก็ได้เส้นหยาง แล้วเขียนเส้นแรกคือเส้นล่างสุดเป็น ▅▅▅▅▅
ครั้งที่ 2 ได้ ด้านหยางสอง ด้านหยินหนึ่ง ก็ได้เส้นหยาง แล้วเขียนเส้นที่สองเป็น ▅▅▅▅▅
ครั้งที่ 3 ได้ด้านหยินสอง ด้านหยางหนึ่ง ก็ได้เส้นหยิน เขียนเส้นที่สามเป็น ▅▅ ▅▅
ครั้งที่ 4 ได้ด้านหยางทั้งสามเหรียญ เขียนเส้นที่สี่เป็น ▅▅ ▅▅ X
ครั้งที่ 5 ได้ ได้ด้านหยินสอง ด้านหยางหนึ่ง ก็ได้เส้นหยิน เขียนเส้นที่ห้าเป็น ▅▅ ▅▅
ครั้งที่ 6 ได้ด้านหยินทั้งสามเหรียญ เขียนเส้นบนสุดเป็น ▅▅▅▅▅ O
แล้วเราทำการเขียนออกมาได้ฉักลักษณ์ออกมาครับ จากนั้นก็ทำการเปลี่ยนเส้นเคลื่อนไหวเป็นเส้นตรงข้ามครับ เปลี่ยนหยินเป็นหยางเปลี่ยนหยางเป็นหยินครับ เราจะได้ฉักลักษณ์เปลี่ยนขึ้นมาอีกฉะกะลักษณ์หนึ่ง ให้เขียนไว้ด้วยกันซึ่งจะได้ดังรูปล่างครับ
ฉักลักษณ์ต้น ทำการเปลี่ยนเส้นเคลื่อนไหวจะได้ฉักลักษณ์เปลี่ยน |
เราก็เอาฉักลักษณ์ที่ได้นี้ไปเปิดดูในอี้จิงหรือคัมภีร์โจวอี้ หรือวิธีอื่นใดที่เราจะใช้ครับ ในที่นี้ผมจะใช้ทียบกับคัมภีร์โจวอี้ ซึ่งเปิดคัมภีร์ดูก็พบว่าได้ ตรีลักษณ์บนเป็น “เกิ้น” หรือภูเขา ตรีลักษณ์ล่างเป็น “ตุ้ย” หรือทะเลสาบ มีเส้นเคลื่อนไหวคือเส้นที่ 4 และ 6(เส้นบนสุด) ครับ เมื่อเปิดคัมภีร์ดูก็พบว่าตรงกับฉักลักษณ์ที่ 41 บท “ลดทอน” ก็ให้เราอ่านความหมายของฉักลักษณ์นั้นๆครับ แล้วเราก็ดูรายละเอียดที่เส้นเคลื่อนไหวคือเส้นที่ 4 และ 6 ด้วยครับ ทำการอ่านความหมายของเส้นเพื่อดูรายละเอียด จากนั้นให้ไปเปิดดูฉักลักษณ์เปลี่ยนอีกอันครับ ได้ตรีลักษณ์บนเป็น “เจิ้น” สายฟ้า และตรีลักษณ์ล่างเป็น “ตุ้ย” ทะเลสาบ เปิดดูตรงกับฉักลักษณ์ที่ 54 บท “เจ้าสาว” ครับ ก็ให้เราอ่านความหมายฉักลักษณ์ แล้วก็นำเอาคำแนะนำและปรัชญาจากความหมายในคัมภีร์โจวอี้นี้มาใช้ครับ สิ่งที่เราจะได้จากโจวอี้นั้นไม่ใช่แค่คำทำนายครับ แต่เป็นทั้งข้อคิด, ปรัชญา และคำแนะนำที่ดียิ่งครับ
อนึ่ง สำหรับการถามคำถามควรให้รวบรัดและตรงไปตรงมา หากมีหลายทางเลือกก็ให้แยกถามไปทีละทางเลือกแล้วค่อยเอาผลมาเปรียบเทียบกันครับ การใช้อี้จิงบ่อยๆนั้นจะทำให้เราเข้าใจหลายๆอย่างมากขึ้นครับ และเราจะพบว่าอี้จิงนั้นเข้าใจตัวเรามากกว่าที่เราคิด…
ก็เสร็จเรียบร้อยครับกับวิธีการทำนายด้วยเหรียญในอี้จิง หวังว่าจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ยังมึนงงสงสัย หรือต้องการหาวิธีที่ถูกต้องกันนะครับ