ระบบกาลของจีน ตอนที่ 1 : รู้จักต้นฟ้ากิ่งดิน
- 17/10/2016
- Posted by: Liang
- Category: พื้นฐานทั่วไป
ระบบกาลคืออะไร? กาลในที่นี้ก็คือกาลเวลา ระบบกาลของจีนก็คือระบบการบอกกาลเวลาของจีน ซึ่งรวมความตั้งแต่ ชั่วยาม วัน เดือน ปี หรือพูดง่ายๆก็คือในหน่วยเล็กอ้างถึงยามเวลาในแต่ละวัน ในระดับตั้งแต่ระดับวันขึ้นไปก็คือปฏิทินนั่นเอง
ไม่ว่าจะจากระบบย่อยระบบเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ในระบบกาล-ปฏิทินของจีนต่างก็อิงอยู่ที่พื้นฐานเดียวกัน คือมีอ้างอิงถึงระบบที่แปลเป็นชื่อไทยแบบน่ารักๆว่า “ต้นฟ้า-กิ่งดิน” ซึ่งแปลจากภาษาจีนที่อ่านว่า “เทียนกาน-ตี้จือ” นั่นเอง ส่วนการแปลไทยนั้นบ้างก็ใช้ภาษาแต้จิ๋วไป บ้างก็แปลไปตามแนวคิดของตัวเอง เช่นเรียกว่า “ราศีฟ้า-ราศีดิน” แต่แท้จริงมันก็คือเรื่องเดียวกัน
ต้นฟ้า-กิ่งดิน คืออะไร มันก็คือระบบนับที่ชาวจีนใช้กำกับและใช้นับกาลเวลา ซึ่งจริงๆเป็นสองระบบ หนึ่งคือต้นฟ้ามี 10 ลำดับ หนึ่งคือกิ่งดินมี 12 ลำดับ ซึ่งจะใช้สองระบบนี้จับคู่เข้ากันใช้ร่วมกันในการนับกาล ตั้งแต่การนับยามเวลา นับวันในเดือน นับเดือนในปี นับปีในรอบ 10 ปี นับปีในรอบ 60 ปี
ก่อนอื่นมารู้จักกับระบบต้นฟ้ากันเสียก่อนครับ มี 10 ลำดับ ซึ่งก็เหมือนกับระบบอื่นของจีนที่มีคุณสมบัติเชิงหยิน-หยางและห้าธาตุด้วย ดังนี้
10 ต้นฟ้า
เอาล่ะครับ ตอนนี้เราก็พอจะรู้จักระบบต้นฟ้าทั้งสิบแล้ว อันนี้อาจจะมึนหน่อยเพราะไม่มีความสอดคล้องใดกับระบบการนับกาลของไทย แต่ต่อไปเรามาดูระบบกิ่งดินทั้งสิบสองกันดูครับ ซึ่งระบบนี้จะง่ายมากและคนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้วครับ เพราะสอดคล้องกับระบบนักษัตรของไทยนั่นเองครับ ซึ่งในที่นี้ผมจะลงความสัมพันธ์กับยามเวลาแนบไปด้วยเลยเพราะอาจจะเป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นนัก ส่วนความสัมพันธ์ในระบบวัน-เดือน-ปี หรือระบบปฏิทินนั้นเดี๋ยวจะขอทะยอยมาลงอีกทีครับผม เรามาดูสิบสองกิ่งดินแบบคร่าวๆกันก่อนเลยครับ
12 กิ่งดิน
ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มหายมึนนะครับ เพราะมีความสอดคล้องกับระบบนักษัตรของไทยอยู่ ซึ่งหากพิจารณาดูทั้งต้นฟ้า-กิ่งดิน ก็จะพบว่าแท้จริงมันก็คือระบบนับอย่างหนึ่งซึ่งใช้ในการนับกาลของจีนนั่นเองครับ พวกชื่อแปลกในสิบต้นฟ้าอาจจะยากหน่อยแต่ก็ลองท่องๆจำๆดูครับ ส่วนสิบสองกิ่งดินนี่ง่ายเลยครับเพราะท่องเป็น 12 นักษัตรเลยก็ได้ครับ แต่อาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์กับยามเวลาที่ดูจะแปลกจากของไทยหน่อย แต่สมัยก่อนคนจีนจะนับเวลาเป็น 12 ชั่วยาม และเรียกแต่ละชั่วยามตามสิบสองกิ่งดินนี่เองครับ เช่นเวลาช่วงเที่ยงคืนก็เรียกว่ายามจื่อ ช่วงเที่ยงวันก็เรียกยามอู่ เป็นต้นครับ ซึ่งจริงๆนอกจากนี้จะมีเรื่องความสัมพันธ์ของสิบสองกิ่งดินกับเดือนทั้งสิบสองอีก แต่เดี๋ยวที่เยอะๆก็เก็บไว้จัดให้อ่านต่อตอนหน้านะครับ
สำหรับหลายๆท่านที่เคยศึกษาศาสตร์จีน แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับการนำเสนอของผมนั้นจะพยายามแปลความหมายของคำจีนเป็นไทยด้วย ต่อให้ไม่ได้ความหมายดั้งเดิม 100% แต่ก็จะพยายามให้แปลและคนไทยจำได้หรือนำไปใช้ได้ และอีกประการคือในแง่คำอ่านซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ภาษาแต้จิ๋วกำกับเสียงอ่าน(เช่นจะเป็น กะ อิก เปี้ย ฯลฯ) แต่ผมจะพยายามใช้ภาษาจีนกลางทุกครั้ง เนื่องจากเป็นภาษาสากลและในอนาคตสำหรับการเรียนภาษาจีนที่มากขึ้นนั้นการใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลักจะช่วยป้องกันความสับสนของการอ่านได้(ถึงจริงๆผมจะใช้ภาษากวางตุ้งและเกลียดภาษาจีนกลางก็ตาม)
อ้อ หลายคนอาจจะงงว่าเอ๊ะ นี่จะสอนเรื่องการพยากรณ์อะไรอีกหรือเปล่า….จริงๆในระบบทำนายหรือพยากรณ์ก็ต้องใช้ความรู้เรื่องกาล-ปฏิทินแน่นอนอยู่แล้วครับ แต่ที่ลงนี่ก็เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานเผื่อไปต่อยอดในวิชาอื่นๆ หรือไว้เป็นแนวข้อมูลความรู้เรื่องเวลาและปฏิทินจีนมากกว่าครับ อย่าเพิ่งไปมองว่าผมจะสอนเรื่องดูดวงจีนโป๊ยยี่ไปครับ